ผลของโปรแกรมการเสริมสร้างต้นทุนชีวิตต่อความรู้สึกมีคุณค่าในตนเองและภาวะซึมเศร้า ของมารดาวัยรุ่นหลังคลอด Effects of Life Assets Enhancement Program on Self-esteem and Depression Among Postpartum Adolescent Mother

ผู้แต่ง

  • สุทินี เสาร์แก้ว
  • วราทิพย์ แก่นการ

คำสำคัญ:

ต้นทุนชีวิต ความรู้สึกมีคุณค่าในตนเองภาวะซึมเศร้ามารดาวัยรุ่นหลังคลอด

บทคัดย่อ

ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดเป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อย ส่งผลกระทบต่อทั้งมารดาบิดา ทารกและครอบครัว

การเสริมสร้างต้นทุนชีวิตเป็นพลังด้านบวกช่วยในการพัฒนามารดาวัยรุ่นหลังคลอดให้มีความเข้มแข็งด้านจิตใจ สังคม สติปัญญาด้วยภูมิปัญญาและภาคีเครือข่ายการมีส่วนร่วมของชุมชน การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของโปรแกรมการสริมสร้างต้นทุนชีวิตต่อความรู้สึกมีคุณค่าในตนเองและภาวะซึมเศร้าของมารดาวัยรุ่นหลังคลอดเป็นการศึกษาแบบกึ่งทดลอง กลุ่มตัวอย่างแบ่งเป็นกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมโดยการสุ่มกลุ่มละ 50คน กลุ่มทดลองได้รับโปรแกรมการเสริมสร้างต้นทุนชีวิตระยะเวลา 6 เดือน กลุ่มควบคุมได้รับการดูแลตามปกติ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย 1) แบบบันทึกข้อมูลส่วนบุคคล 2) แบบประเมินความรู้สึกมีคุณค่าในตนเองมีค่าความเชื่อมั่นโดยสัมประสิทธิ์แอลฟาของครอนบาคได้เท่ากับ 0.85 และ 3) แบบประเมินภาวะซึมเศร้ามีค่าความเชื่อมั่นโดยสัมประสิทธิ์แอลฟาของ ครอนบาคได้เท่ากับ 0.86 วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนาและไคสแคว์และสถิติทดสอบค่าทีชนิด 2 กลุ่มที่เป็นอิสระต่อกันและชนิด 2 กลุ่มที่สัมพันธ์กัน

                ผลการวิจัยพบว่า เมื่อสิ้นสุดโปรแกรม กลุ่มทดลองคงอยู่จำนวน 49 รายคิดเป็นร้อยละ98 และกลุ่มควบคุมคงอยู่จำนวน 48 รายคิดเป็นร้อยละ 96 มารดาวัยรุ่นหลังคลอดที่เข้าร่วมโปรแกรมการเสริมสร้างต้นทุนชีวิตมีค่าเฉลี่ยของคะแนนความรู้สึกมีคุณค่าในตนเองสูงกว่าก่อนการทดลองและกลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติระดับ 0.01 และคะแนนภาวะซึมเศร้าต่ำกว่าก่อนการทดลองและกลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติระดับ 0.02

                สรุปได้ว่าการเสริมสร้างต้นทุนชีวิตสามารถทำให้มารดาหลังคลอดวัยรุ่นมีความรู้สึกมีคุณค่าในตนเองและลดภาวะซึมเศร้ารวมทั้งเป็นพลังช่วยให้มารดาหลังคลอดวัยรุ่นมีคุณภาพชีวิตที่ดีและสามารถเลี้ยงดูบุตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เผยแพร่แล้ว

2018-10-14