การศึกษาข้อมูลทางการพยาบาลด้านการจัดการความปวดจากเวชระเบียนผู้ป่วยกระดูกหัก ที่เข้ารับการรักษาในแผนกอุบัติเหตุฉุกเฉิน โรงพยาบาลชุมแพ จังหวัดขอนแก่น A Study of Nursing data on pain Management of Fracture Patient Medical Records Treated in Emergency Department Chumphae Hospital KhonKaen

ผู้แต่ง

  • สิทธิพงษ์ ศิริประทุม
  • ชัจคเณค์ แพรขาว

คำสำคัญ:

ข้อมูลทางการพยาบาล ด้านการจัดการความปวด เวชระเบียนผู้ป่วยกระดูกหัก

บทคัดย่อ

การศึกษาวิจัยเชิงพรรณนาแบบย้อนหลังนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาข้อมูลทางการพยาบาลด้านการจัดการความปวดผู้ป่วยกระดูกหัก ที่เข้ารับการรักษาแผนกอุบัติเหตุฉุกเฉิน โรงพยาบาลชุมแพ กลุ่มตัวอย่างเป็นเวชระเบียนผู้ป่วยกระดูกหัก เลือกแบบเจาะจงตามเกณฑ์การคัดเข้า จำนวน 146 ฉบับ เก็บข้อมูลระหว่างเดือนธันวาคม พ.ศ. 2559 ถึง เดือนเมษายน พ.ศ. 2560 โดยใช้แบบบันทึกข้อมูลทางการพยาบาลด้านการจัดการความปวดของผู้ป่วยกระดูกหัก 1 ฉบับ ตรวจสอบความตรงของเนื้อหาโดยผู้ทรงคุณวุฒิ 5 ท่าน มีค่าดัชนีความตรงเนื้อหา (Content validity index) เท่ากับ 0.79 วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติ  แจกแจงความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน เปรียบเทียบคะแนนความปวดก่อนและหลังการจัดการความปวด โดยใช้สถิติ Paired samples t-test

ผลการวิจัยพบว่า กลุ่มตัวอย่างเป็นเพศชายร้อยละ 74.70 อายุเฉลี่ย 43.55 ปี (S.D. =19.24) สาเหตุการบาดเจ็บทั่วไปร้อยละ 54.80 สาเหตุการบาดเจ็บจากจราจรร้อยละ 45.20 ผู้ป่วยกระดูกหักมีความเร่งด่วนระดับ 3 เป็นกระดูกหักแบบปิด ตำแหน่งของกระดูกหักมากที่สุดคือ กระดูกมือ กระดูกขา และกระดูกแขน ตามลำดับ และเวลาอยู่แผนกอุบัติเหตุฉุกเฉินเฉลี่ย 180 นาที (S.D. = 44 นาที)

คะแนนความปวดก่อนและหลังได้รับการจัดการความปวดเฉลี่ยเท่ากับ 5.91 (S.D. = 1.9) และ 4.81 (S.D. = 1.5) ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบโดยใช้สถิติ Paired samples t-test พบว่า คะแนนเฉลี่ยความปวดก่อนและหลังมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ P value 0.001 แสดงว่าการจัดการความปวดสามารถลดความปวดได้ ระยะเวลาที่ผู้ป่วยได้รับการจัดการความปวดโดยการให้ยาเฉลี่ย 49 นาที (S.D. = 38 นาที) 

ผลการวิจัยสะท้อนการได้รับบริการผู้ป่วยกระดูกหัก ทั้งด้านการเข้าถึงบริการ การบริการและการจัดการความปวดจากทีมสุขภาพ สามารถนำไปใช้วางแผนและพัฒนาการบริการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นต่อไป

เผยแพร่แล้ว

2018-10-14