ความสัมพันธ์ระหว่างความรู้เกี่ยวกับทักษะการตรวจมะเร็งเต้านมด้วยตนเองและพฤติกรรมเกี่ยวกับการตรวจเต้านมด้วยตนเองของสตรีวัยผู้ใหญ่ในเขตเทศบาลนครอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี Knowledge of kills and Breast self-examination behavior among Woman of municipal area in Ubon Ratchathani

ผู้แต่ง

  • ณัฐธยาน์ ชาบัวคำ
  • สุภารัตน์ พิสัยพันธุ์
  • ภาวิณี หาระสาร

คำสำคัญ:

knowledge, breast cancer, breast-self examination

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงพรรณนา มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา ความรู้เกี่ยวทักษะการตรวจเต้านมด้วยตนเอง  และพฤติกรรมการตรวจเต้านมด้วยตนเอง  และวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างความรู้เกี่ยวทักษะการตรวจเต้านมด้วยตนเอง  และพฤติกรรมการตรวจมะเร็งเต้านมด้วยตนเองของสตรีวัยผู้ใหญ่ในเขตเทศบาลนครอุบลราชธานี โดยการสุ่มอย่างง่าย จำนวน 110 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบสอบถาม ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 ข้อมูลทั่วไป ส่วนที่ 2 ความรู้เกี่ยวกับทักษะการตรวจเต้านมด้วยตนเอง เรื่องโรคมะเร็งเต้านม และส่วนที่ 3 พฤติกรรมการตรวจเต้านมตนเอง ซึ่งผ่านการตรวจสอบความตรงโดยผู้เชี่ยวชาญ และทดสอบความเชื่อมั่นด้วยวิธีอัลฟาของ  ครอนบาค ได้ค่าความเชื่อมั่นแบบวัดความรู้เกี่ยวกับทักษะการตรวจเต้านมด้วยตนเองเท่ากับ 0.72 และพฤติกรรมการตรวจเต้านมด้วยตนเองเท่ากับ 0.75 เก็บรวบรวมข้อมูลโดยให้กลุ่มตัวอย่างตอบแบบสอบถาม ระหว่างเดือนสิงหาคม  พ.ศ. 2559 ถึง เดือนมกราคม  พ.ศ. 2560 วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติพรรณนา ได้แก่ จำนวน ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และค่าสัมประสิทธ์สหสัมพันธ์ของเพียร์สัน

ผลการวิจัย พบว่า ความรู้เกี่ยวกับทักษะการตรวจเต้านมด้วยตนเองอยู่ในระดับน้อย (ร้อยละ 57.75)  ส่วนพฤติกรรมการตรวจเต้านมตนเอง พบว่า กลุ่มตัวอย่างไม่เคยตรวจเต้านมด้วยตนเองร้อยละ 33.60 เคยตรวจเต้านมด้วยตนเองร้อยละ 66.40  ความถี่ในการตรวจเต้านมด้วยตนเองมีความไม่แน่นอนร้อยละ 54.54  คะแนนเฉลี่ยของพฤติกรรมการตรวจเต้านมด้วยตนเองอยู่ในระดับไม่เหมาะสม       (ร้อยละ 52.40) ส่วนความสัมพันธ์ ระหว่างความรู้เกี่ยวกับทักษะการตรวจเต้านมด้วยตนเอง และพฤติกรรมการตรวจเต้านมด้วยตนเองมีความสัมพันธ์กันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (r=.405, p<.05)

จากผลการศึกษาครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่าถึงแม้ปัจจุบันจะมีการรณรงค์จากสื่อต่างๆ ให้สตรีตรวจเต้านมด้วยตนเอง เป็นประจำอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง พบว่า  สตรีส่วนใหญ่ยังมีพฤติกรรมการตรวจเต้านมน้อย  จึงมีข้อเสนอแนะให้มีการส่งเสริมให้ความรู้เกี่ยวกับโรคมะเร็งเต้านม และวิธีการตรวจเต้านมด้วยตนเอง เพื่อกระตุ้นเตือนเป็นสิ่งสำคัญเพื่อให้สตรีเข้าใจ  และมีความตระหนักในการตรวจเต้านมด้วยตนเองอย่างถูกต้อง  มีการประชาสัมพันธ์  และรณรงค์การตรวจเต้านมตนเองอย่างต่อเนื่องเพื่อให้สตรีตรวจเต้านมด้วยตนเองสม่ำเสมอเพิ่มขึ้น

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2018-10-14