การพัฒนารูปแบบคุณภาพการบริหารความเสี่ยงทางคลินิก ตามมาตรฐานของงานบริการพยาบาลผู้ป่วยใน โรงพยาบาลอาจสามารถ จังหวัดร้อยเอ็ด Development of Quality Model for Clinical Risk Management based on In-Patient Nursing Care Standard in Atsamat Hospital Roi-Et Province

ผู้แต่ง

  • นภัสภรณ์ เชิงสะอาด
  • เทอดศักดิ์ พรหมอารักษ์
  • วัชระ เอี่ยมรัศมีกุล

คำสำคัญ:

การพัฒนาคุณภาพ ความเสี่ยงทางคลินิก มาตรฐานงานบริการพยาบาลผู้ป่วยใน

บทคัดย่อ

การวิจัยเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนารูปแบบคุณภาพการบริหารความเสี่ยงทางคลินิกตามมาตรฐานของงานบริการพยาบาลผู้ป่วยใน โรงพยาบาลอาจสามารถ จังหวัดร้อยเอ็ด ผู้ร่วมวิจัยประกอบด้วยคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพบริการพยาบาล 14 คน บุคลากรที่ปฏิบัติงานเกี่ยวข้องกับมาตรฐานของงานบริการพยาบาลผู้ป่วยใน 26 คน ทำการศึกษา ระหว่างเดือนมกราคม-พฤษภาคม 2560 รวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถาม การสังเกต และการสนทนากลุ่ม ออกแบบการวิจัยโดยใช้กระบวนการ PAOR ตามแนวคิดของ Kemmis & McTaggart มี 4 ขั้นตอนคือ 1) วิเคราะห์สถานการณ์ปัญหาความเสี่ยงทางคลินิกที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพการบริการจากการรวบรวม วิเคราะห์ข้อมูล ในคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพบริการพยาบาล เพื่อวางแผนการพัฒนา 2) ลงมือปฏิบัติตามแผน โดยการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่องการบริหารความเสี่ยงทางคลินิกตามมาตรฐานของงานบริการพยาบาลผู้ป่วยใน และเก็บรายงานความเสี่ยงทางคลินิกที่เกี่ยวข้อง 3) สังเกตการปฏิบัติตามแผน ได้แก่ การค้นหา การวิเคราะห์ การจัดการ และการประเมินผลความเสี่ยง 4) สะท้อนผลการปฏิบัติโดยติดตามประเมินผล นำข้อมูลมาพิจารณาร่วมกัน การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณ ใช้สถิติเชิงพรรณนา ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และสถิติเชิงอนุมาน ใช้ Paired Samples t-test ข้อมูลเชิงคุณภาพใช้การวิเคราะห์เนื้อหา

ผลการศึกษาพบว่า รูปแบบการพัฒนาคุณภาพการบริหารความเสี่ยงทางคลินิกคือ SMILE Model ประกอบด้วย การไวต่อความเสี่ยงมีการตอบสนองต่อความเสี่ยงที่เกิดขึ้น (S-Sensitive) มีการบริหารจัดการระบบการป้องกันความเสี่ยงที่ดี ป้องกันการเกิดซ้ำ (M–Management) มีการนำมาตรฐานสู่การปฏิบัติ (I-Implementation) มีการเรียนรู้ความผิดพลาดจากความเสี่ยงที่เกิดขึ้น (L-Learning) และความผิดพลาดเกิดขึ้นได้ไม่โทษที่ตัวบุคคลมองเชิงระบบ (E-Error) ผลของการพัฒนาคุณภาพการบริหารความเสี่ยงทางคลินิกตามมาตรฐานของงานบริการพยาบาลผู้ป่วยใน ส่งผลให้ผู้ร่วมวิจัยมีระดับความรู้ การปฏิบัติ การมีส่วนร่วม และความพึงพอใจเพิ่มขึ้นจากก่อนดำเนินการพัฒนาอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p-value<0.05)

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2018-10-14