ต้นทุนประสิทธิผลของโปรแกรมการสร้างเสริมสุขภาพร่วมกับการใช้กลุ่มช่วยเหลือตนเองเพื่อป้องกันโรคอ้วนในอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน อำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร Cost- effectiveness of Health Promotion Program and the use of Self-help Group to Prevent Obesity in Village Health Volunteer. Leng Nok Tha District, Yasothon Province
คำสำคัญ:
ต้นทุน-ประสิทธิผล การสร้างเสริมสุขภาพ กลุ่มช่วยเหลือตนเองบทคัดย่อ
โรคอ้วนเป็นหนึ่งในปัจจัยที่เสี่ยงสำคัญทำให้เกิดโรคเรื้อรังซึ่งต้องใช้ระยะเวลารักษายาวนาน และมีค่าใช้จ่ายสูง การส่งเสริมสุขภาพจึงเป็นสิ่งจำเป็นซึ่งต้องอยู่ภายใต้ทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดและมีประสิทธิภาพ การศึกษานี้เป็นการวิจัยกึ่งทดลองศึกษาต้นทุนประสิทธิผลของโปรแกรมการสร้างเสริมสุขภาพร่วมกับการใช้กลุ่มช่วยเหลือตนเองเพื่อป้องกันโรคอ้วนโดยกลุ่มตัวอย่างคือ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านที่มีภาวะน้ำหนักเกิน แบ่งเป็น 2 กลุ่มๆละ 50 คนโดยการสุ่มตัวอย่าง กลุ่มทดลองเข้าร่วมโปรแกรมการสร้างเสริมสุขภาพร่วมกับใช้กลุ่มช่วยเหลือตนเอง เป็นระยะเวลา 6 เดือน และกลุ่มควบคุมได้รับการดูแลตามปกติ ประเมินต้นทุนและค่าดัชนีมวลกาย เส้นรอบเอว คุณภาพชีวิตก่อนและสิ้นสุดการวิจัย โดยต้นทุนและประสิทธิผลของโปรแกรมคำนวณจากจำนวนเงินที่ทำให้กลุ่มตัวอย่างหนึ่งรายมีระดับคุณภาพชีวิตดีขึ้น 1 ระดับ
ผลการศึกษา เมื่อสิ้นสุดโปรแกรมมีกลุ่มตัวอย่างคงอยู่ 95 ราย กลุ่มทดลองจำนวน 48 ราย (ร้อยละ 96.00) กลุ่มควบคุมจำนวน 47 ราย (ร้อยละ 94.00) กลุ่มทดลองมีค่าเฉลี่ยดัชนีมวลกาย เส้นรอบเอว และคุณภาพชีวิตแตกต่างจากก่อนการทดลองและกลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < .05) ในมุมมองของผู้ให้บริการและผู้รับบริการในกลุ่มทดลองจำนวน 48 รายต้นทุนเท่ากับ 31,000 บาท และ 18,000 บาทตามลำดับ ในกลุ่มควบคุมจำนวน 47 รายต้นทุนเท่ากับ 3,500 บาทและ 1,762 บาท กลุ่มทดลองมีการพัฒนาคุณภาพชีวิตดีขึ้น 1 ระดับ จำนวน 23 คน กลุ่มควบคุมมีจำนวน 3 คน ต้นทุนต่อหน่วยประสิทธิผลในกลุ่มทดลอง เท่ากับ 1,347.83 บาท และ 782.61 บาท กลุ่มควบคุม เท่ากับ 1,166.67 บาท และ 587.33 บาท ตามลำดับ
สรุป: อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านที่เข้าร่วมโปรแกรมการสร้างเสริมสุขภาพร่วมกับการใช้กลุ่มช่วยเหลือตนเองเพื่อป้องกันโรคอ้วนมีต้นทุนและประสิทธิผลทั้งในในมุมมองของผู้ให้บริการและผู้รับบริการสูงกว่าการไม่เข้าร่วมโปรแกรม