ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความมั่นคงด้านสุขภาพของผู้ป่วยกลุ่มโรคเรื้อรังไม่ติดต่อ ในจังหวัดพะเยา Factors influencing health security of Non-Communicable diseases patients in Phayao Province

ผู้แต่ง

  • ศิริพร แสงศรีจันทร์
  • ปะราลี โอภาสนันท์
  • มลฤดี เกศหอม

คำสำคัญ:

ปัจจัย ความมั่นคงทางสุขภาพ ผู้ป่วยกลุ่มโรคเรื้อรังไม่ติดต่อ

บทคัดย่อ

การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงทำนาย มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความมั่นคงด้านสุขภาพของผู้ป่วยโรคเรื้อรังไม่ติดต่อในจังหวัดพะเยา กลุ่มตัวอย่าง คือ ผู้ป่วยกลุ่มโรคเรื้อรังไม่ติดต่อ จำนวน 400 คน ที่ได้จากการสุ่มหลายขั้นตอน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบสอบถามปัจจัยที่มีอิทธิพลปัจจัยต่อความมั่นคงด้านสุขภาพ มี 5 ส่วน ได้แก่ 1) แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล 2) แบบสอบถามการรับรู้ภาวะสุขภาพ 3) แบบสอบถามแรงสนับสนุนทางสังคม 4) แบบสอบถามคุณภาพบริการพยาบาล 5) แบบสอบความความมั่นคงด้านสุขภาพ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติบรรยาย และสถิติสมการถดถอยพหุคูณแบบขั้นตอน

                ผลการวิจัย พบว่า ความมั่นคงด้านสุขภาพของผู้ป่วยโรคเรื้อรังไม่ติดต่อ อยู่ในระดับปานกลาง (  = 2.02, SD = .39) จากการวิเคราะห์ถดถอยพหุคูณแบบขั้นตอน พบว่า แรงสนับสนุนทางสังคม การรับรู้ภาวะสุขภาพ และคุณภาพบริการพยาบาล สามารถทำนายความมั่นคงด้านสุขภาพได้ ร้อยละ 50.0 (R2 = .500, F= 132.107, p < .001) โดยตัวแปรที่สามารถทำนายความมั่นคงด้านสุขภาพได้สูงที่สุดคือ แรงสนับสนุนทางสังคม (β = .487, p < .001) รองลงมาคือ การรับรู้ภาวะสุขภาพ (β = .215, p< .001) และคุณภาพบริการพยาบาล (β =.136, p < .01) โดยสมการทำนายความมั่นคงด้านสุขภาพของผู้ป่วยโรคเรื้อรังไม่ติดต่อ ในรูปคะแนนดิบมาตรฐาน คือ  

Z ความมั่นคงด้านสุขภาพ = .487 (Z แรงสนับสนุนทางสังคม) + .215 (Z การรับรู้ภาวะสุขภาพ) + .136, (Z คุณภาพบริการพยาบาล)

                ผลการวิจัยมีข้อเสนอแนะว่า ผู้บริหารหรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยโรคเรื้อรังไม่ติดต่อ ควรมีการจัดโครงการที่เน้นการส่งเสริมด้านแรงสนับสนุนทางสังคมทุกระดับ และส่งเสริมให้ผู้ป่วยโรคเรื้อรังไม่ติดต่อมีการรับรู้ภาวะสุขภาพของตนเอง รวมถึงการเร่งพัฒนาคุณภาพบริการพยาบาล เพื่อเสริมสร้าง ความมั่นคงด้านสุขภาพในผู้ป่วยโรคเรื้อรังไม่ติดต่อ

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2018-10-14