ผลของโปรแกรมการเตรียมความพร้อมมารดาต่อการรับรู้ความสามารถของตนเอง พฤติกรรมการดูแลทารกของมารดาและภาวะสุขภาพของทารกเกิดก่อนกำหนด Effects of maternal preparation program on perceived self - efficacy, infant-care behavior of mothers and preterm infant health
บทคัดย่อ
การวิจัยกึ่งทดลองนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาผลของโปรแกรมการเตรียมความพร้อมมารดาต่อการรับรู้ความสามารถของตนเอง พฤติกรรมการดูแลทารกของมารดาและภาวะสุขภาพของทารกเกิดก่อนกำหนด กลุ่มตัวอย่างคือมารดาและทารกในหอผู้ป่วยหนักทารกแรกเกิดของโรงพยาบาลบุรีรัมย์ โดยใช้วิธีการสุ่มอย่างมีระบบ จำนวนทั้งหมด 40 คู่ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มควบคุมและกลุ่มทดลอง กลุ่มละ20 คู่ โดยมารดากลุ่มควบคุมได้รับการพยาบาลตามปกติ ส่วนมารดากลุ่มทดลองได้รับโปรแกรมการเตรียมความพร้อมในการดูแลทารกเกิดก่อนกำหนดที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นตามแนวคิดการรับรู้ความสามารถของตนเองของแบนดูรา ระยะเวลาเก็บข้อมูล 4 เดือน ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2559 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560
เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย 1) เครื่องมือที่ใช้ในทดลอง ได้แก่โปรแกรมการเตรียมความพร้อมของมารดาในการดูแลทารกเกิดก่อนกำหนด, คู่มือการดูแลทารกเกิดก่อนกำหนดสำหรับมารดา และ2) เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่2.1) แบบบันทึกข้อมูลทั่วไปของมารดาและทารก 2.2) แบบประเมินการรับรู้ความสามารถตนเองของมารดาในการดูแลทารกเกิดก่อนกำหนด 2.3) แบบประเมินพฤติกรรมของมารดาในการดูแลทารกเกิดก่อนกำหนด และ 2.4) แบบประเมินภาวะสุขภาพทารกเกิดก่อนกำหนด วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้การแจกแจงความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานและทดสอบสมมติฐานโดยใช้ Paired t test และ Independent t-test
ผลการศึกษา พบว่า มารดาทั้ง 2 กลุ่ม มีคะแนนเฉลี่ยการรับรู้ความสามารถของตนเองในการดูแลทารกเกิดก่อนกำหนดภายหลังทดลองสูงกว่าก่อนการทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ภายหลังการทดลองมารดากลุ่มทดลองมีคะแนนเฉลี่ยการรับรู้ความสามารถของตนเองและคะแนนเฉลี่ยพฤติกรรมในการดูแลทารกเกิดก่อนกำหนดสูงกว่ามารดากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 และทารกกลุ่มทดลองมีคะแนนเฉลี่ยภาวะสุขภาพทารกสูงกว่าทารกกลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05