ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีของเยาวชนชาย ในทัณฑสถานแห่งหนึ่ง Factors Influencing HIV Preventive behaviors among male Adolescents in a Correctional Institution
คำสำคัญ:
ร้านค้าออนไลน์ ความภักดีทางอิเล็กทรอนิกส์ เจเนอร์เรชั่นซี, Electronic Loyalty, Online Purchasing, Generation Cบทคัดย่อ
ในสถานการณ์ปัจจุบันปัญหาการแพร่กระจายเชื้อเอชไอวีในกลุ่มต่างๆ ยังคงเป็นปัญหาสำคัญในสังคมไทยและต่างประเทศที่มีความจำเป็นต้องเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหานี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้ต้องขัง เนื่องจากมีปัจจัยหลายอย่างที่ส่งผลต่อการเข้าถึงการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี ดังนั้นในการศึกษาครั้งนี้เป็นการวิจัยพรรณนาเชิงทำนาย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยทำนายพฤติกรรมการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีของเยาวชนชายในทัณฑสถานแห่งหนึ่ง กลุ่มตัวอย่างถูกเลือกโดยการสุ่มแบบมีระบบจากเยาวชนชายในทัณฑสถานที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ จำนวน 134 ราย เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูลเป็นแบบสอบถามที่ผ่านการตรวจสอบความตรงของเนื้อหาจากผู้ทรงคุณวุฒิ 3 ท่าน ซึ่งประกอบด้วยแบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล แบบสอบถามการรับรู้ของบุคคลต่อการติดเชื้อเอชไอวี ได้แก่ การรับรู้โอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี การรับรู้ความรุนแรงต่อการติดเชื้อเอชไอวี การรับรู้ประโยชน์ต่อการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี การรับรู้อุปสรรคต่อการป้องกันการติดเชื้อ เอชไอวี และการรับรู้ความสามารถของตนเองต่อการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี ซึ่งมีค่าความเชื่อมั่น .95, .88, .89, .91 และ .85 ตามลำดับ แบบสอบถามความรู้เกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี มีค่าความเชื่อมั่นของเครื่องมือเท่ากับ .82 แบบสอบถามการรับรู้การปฏิบัติตามนโยบายการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี มีค่าความเชื่อมั่นของเครื่องมือเท่ากับ .84 และแบบสอบถามพฤติกรรมการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี มีค่าความเชื่อมั่นของเครื่องมือเท่ากับ .85 วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติพรรณนาและวิเคราะห์หาปัจจัยทำนายโดยใช้สถิติการวิเคราะห์ถดถอยพหุคูณแบบขั้นตอน
ผลการศึกษาพบว่า ปัจจัยที่สามารถทำนายพฤติกรรมการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีด้านการดำเนินชีวิตประจำวันของเยาวชนชายในทัณฑสถานได้ ได้แก่ การรับรู้ความสามารถของตนเองต่อการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี (β = .352 , p < .01) และการรับรู้อุปสรรคต่อการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี(β = -.174, p < .05) สามารถร่วมกันทำนายพฤติกรรมการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีด้านการดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติได้ร้อยละ 14.10
การศึกษาครั้งนี้ถึงแม้ว่าจะมีอำนาจการทำนายไม่สูง แต่สามารถนำข้อมูลไปใช้ในการวางแผนหรือจัดการเพื่อส่งเสริมและเพิ่มการรับรู้ความสามารถของตนเองต่อการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี และลดปัญหาอุปสรรคต่างๆ ในการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีของเยาวชนชายในทัณฑสถาน ซึ่งจะเป็นแนวทางที่สามารถช่วยลดปัญหาการติดเชื้อเอชไอวีในกลุ่มผู้ต้องขังได้ และเป็นแนวทางในการวิจัยเชิงทดลองต่อไป