ความชุกและปัจจัยเสี่ยงของการเกิดภาวะพังผืดในตับ ในผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2
คำสำคัญ:
ภาวะพังผืด, ภาวะไขมันสะสม, Fibrosis 4 scores, โรคเบาหวานชนิดที่ 2บทคัดย่อ
โรคเบาหวานจัดเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่ก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ตามมา โดยมีสาเหตุสำคัญจากการไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ โรคเบาหวานชนิดที่ 2 มักจะมีความเกี่ยวข้องกับโรคอ้วน โรคระดับไขมันในเลือดผิดปกติ รวมถึงภาวะเมแทบอลิกซินโดรม ซึ่งกลุ่มโรคเหล่านี้สามารถที่จะส่งผลทำให้เกิดภาวะไขมันพอกตับและพัฒนาไปสู่ภาวะพังผืดในตับ ตับแข็งและมะเร็งตับได้ ดังนั้นงานวิจัยนี้จึงได้ทำการศึกษาการเกิดภาวะพังผืดในตับในอาสาสมัครที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 อายุระหว่าง 35-65 ปี ที่เข้ารับการรักษาที่คลินิกโรคเบาหวาน โรงพยาบาลพนมสารคาม จำนวน 380 ราย โดยใช้ค่า fibrosis 4 score (FIB-4 score) ตามเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลกในการประเมินการเกิดพังผืดในตับเพื่อหาความชุกและปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ที่มีความสัมพันธ์ต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่ตับ ผลการศึกษาพบว่าความชุกของการเกิดภาวะพังผืดในตับระดับ high risk เท่ากับร้อยละ 1.8 ระดับ intermediate risk เท่ากับร้อยละ 15.3 และระดับ low risk เท่ากับร้อยละ 82.9 และพบว่าอายุ ระยะเวลาการเกิดโรคเบาหวาน ระดับครีเอตินีน ระดับเอเอสที ระดับเอแอลทีในเลือด และระดับโปรตีนในปัสสาวะในกลุ่มผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีค่า FIB-4 score ≥ 1.45 มีค่ามัธยฐานสูงกว่าในกลุ่ม FIB-4 score < 1.45 ส่วนค่าอัตราการกรองของไตและระดับเกล็ดเลือดในกลุ่ม FIB-4 score ≥ 1.45 มีค่าต่ำกว่ากลุ่ม FIB-4 score < 1.45 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < 0.05) สำหรับการวิเคราะห์ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะพังผืดในตับโดยใช้สถิติถดถอยลอจิสติกพบว่าอายุที่มากขึ้น ระดับเอเอสทีที่สูงขึ้นและระดับโปรตีนในปัสสาวะที่ผิดปกติมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่ตับเพิ่มขึ้น 7.3, 25.1 และ 2.4 เท่าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < 0.05) ตามลำดับ การศึกษาในครั้งนี้สรุปได้ว่า FIB-4 scores เป็น non-invasive marker ที่สามารถใช้ในการประเมินภาวะพังผืดในตับในกลุ่มผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้และปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ อายุ ระดับเอเอสที รวมทั้งระดับโปรตีนในปัสสาวะสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการติดตามและป้องกันการเกิดภาวะพังผืดในตับที่รุนแรงตามมาได้