ปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดของผู้ขับขี่ยานพาหนะในเชียงใหม่ ก่อนและหลังการแก้ไขกฎกระทรวงกำหนดปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด

ผู้แต่ง

  • อิสราพงศ์ นุวงศ์ษา ภาควิชานิติเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

คำสำคัญ:

ระดับแอลกอฮอล์ในเลือด , อุบัติเหตุจากการจราจร

บทคัดย่อ

เมาแล้วขับเป็นสาเหตุสำคัญของอุบัติเหตุจากการจราจรบนท้องถนน การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์การบังคับใช้กฎกระทรวงฉบับใหม่เกี่ยวกับการกำหนดปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดในปี พ.ศ.2560 จะส่งผลกระทบต่อระดับแอลกอฮอล์ในเลือดของผู้ประสบอุบัติเหตุทางถนนมากน้อยเพียงใด โดยรวบรวมข้อมูลย้อนหลังของผู้ประสบอุบัติเหตุทางการจราจรบนท้องถนนที่เข้ารับการรักษา ณ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ช่วงระหว่างเดือนมกราคม พ.ศ. 2559 ถึงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2564 เพื่อนำมาวิเคราะห์ว่า ก่อนเปลี่ยนแปลงกฎหมาย (พ.ศ. 2559) ระหว่างเปลี่ยนแปลงกฎหมาย (พ.ศ. 2560) และ หลังเปลี่ยนแปลงกฎหมาย 4 ปี (พ.ศ. 2561-2564) ผู้ประสบอุบัติเหตุทางจราจรบนท้องถนนที่ตรวจพบว่าเมาสุรามีจำนวนเพิ่มขึ้นหรือลดลงไปในทิศทางใด จะได้นำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในการบังคับใช้กฎหมายและการรณรงค์เรื่องการงดดื่มสุราขณะขับขี่ยานพาหนะในอนาคต ซึ่งในการศึกษานี้พบว่าผู้ขับขี่ที่ประสบอุบัติเหตุทางจราจรส่วนใหญ่เป็นเพศชาย อายุ 20-29 ปี พาหนะที่ใช้มากที่สุดคือรถจักรยานยนต์ ระดับแอลกอฮอล์ที่พบมากที่สุด คือช่วงระหว่าง 151 ถึง 200 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ โดยมีค่าเฉลี่ย 170.23 ± 74.64 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ เมื่อใช้เกณฑ์ระดับแอลกอฮอล์ในเลือดมากกว่า 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ถือว่าเมาสุรา พบว่าเมาถึงร้อยละ 68.8 เมื่อมีการบังคับใช้เกณฑ์ระดับแอลกอฮอล์ในเลือดเกิน 20 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ถือว่าเมาสุรา ในปี พ.ศ. 2560 ร้อยละการเมาสุราของผู้ขับขี่ที่เกิดอุบัติเหตุลดลงเมื่อเทียบกับในปี พ.ศ. 2559 ผู้ขับขี่อายุน้อยกว่า 20 ปีมีการเมาสุราลดลงอย่างต่อเนื่องจนถึงปี พ.ศ. 2563 ส่วนผู้ขับขี่อายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไปแนวโน้มการเมาสุรายังไม่มีทิศทางที่ชัดเจน

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2023-06-27

How to Cite

ฉบับ

บท

นิพนธ์ต้นฉบับ