การเปรียบเทียบประสิทธิภาพผลการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักด้วยวิธีการตรวจฮีโมโกลบิน ทรานส์เฟอร์ริน แคลโพรเทคติน และแล็กโทเฟอร์รินในอุจจาระเทียบกับการส่องกล้องลำไส้ใหญ่
คำสำคัญ:
การคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ , การตรวจเลือดแฝงในอุจจาระ , การตรวจสารบ่งชี้ในอุจจาระ, การส่องกล้องลำไส้ใหญ่, มะเร็งลำไส้ใหญ่บทคัดย่อ
วิธีการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก (CRC) ที่นิยมใช้กันทั่วไป ได้แก่การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่และการตรวจหาสารบ่งชี้ในอุจจาระ อย่างไรก็ตามความไวของการทดสอบการตรวจหาสารบ่งชี้ในอุจจาระแตกต่างกันมากตามชนิดสารบ่งชี้และชนิดการทดสอบเชิงคุณภาพหรือเชิงปริมาณ งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินประสิทธิภาพของการใช้สารบ่งชี้ hHb, hTf, hCp และ hLf ในอุจจาระ และระดับ CEA ในการตรวจคัดกรอง CRC เทียบกับการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ วิธีการศึกษาเป็นแบบ case control study จำนวน 281 คน โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มที่มีอาการผิดปกติ 139 คน และกลุ่มควบคุม 142 คน โดยการเก็บตัวอย่างอุจจาระและเลือดหนึ่งวันก่อนการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ ผลการศึกษาพบว่าความไวของการตรวจหาสารบ่งชี้ในอุจจาระทั้ง 4 ชนิดมีค่าร้อยละ 100.0, 97.1, 100.0 และ 82.9 ตามลำดับ ความจำเพาะมีค่าร้อยละ 70.3, 59.4, 36.6 และ 87.0 ตามลำดับ หากพิจารณาผลการทดสอบ hHb, hTf, hCp หรือ hLf ร่วมกัน อัตราการพบผลบวกจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 100 การศึกษายังพบว่าอาสาสมัครที่ให้ผลบวกกับสารบ่งชี้ hHb หรือ hLf มีโอกาสตรวจพบโรค CRC มากกว่ากลุ่มที่ให้ผลลบ (aOR = 28.8, P = 0.002 และ aOR = 15.4, P < 0.001 ตามลำดับ) โดยสรุปการตรวจอุจจาระเพื่อหาสารบ่งชี้ hHb และ hLf พบว่ามีประโยชน์ในการคัดกรอง CRC ในกลุ่มผู้ป่วยที่มีความเสี่ยง โดยมีความไวและความแม่นยำในการตรวจวินิจฉัยดีขึ้นเมื่อมีการตรวจสารบ่งชี้ในอุจจาระเหล่านี้ร่วมกันมากกว่าหนึ่งชนิดขึ้นไป