การเปรียบเทียบเครื่องตรวจตะกอนปัสสาวะอัตโนมัติด้วยหลักการ Flow Cytometry และ Digital Image-Base กับวิธีการตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์
คำสำคัญ:
การตรวจตะกอนปัสสาวะด้วยกล้องจุลทรรศน์, UF-1000i, UF-5000, US-2000บทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้เป็นการเปรียบเทียบการตรวจตะกอนปัสสาวะด้วยเครื่องตรวจวิเคราะห์อัตโนมัติ 3เครื่อง ที่ใช้หลักการ flow cytometry (UF-1000i, UF-5000) และ digital image-base (US-2000) กับการตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์ โดยศึกษาจากกลุ่มตัวอย่างปัสสาวะ 735 ราย ใน 4 รายการทดสอบ คือ เซลล์เม็ดเลือดแดง (RBC), เซลล์เม็ดเลือดขาว (WBC), squamous epithelial cell และแบคทีเรียจากการศึกษาพบความสอดคล้องของเครื่องตรวจตะกอนปัสสาวะอัตโนมัติทั้ง 3 เครื่องกับการตรวจตะกอนปัสสาวะด้วยกล้องจุลทรรศน์อยู่ในเกณฑ์เล็กน้อยถึงดี (k=0.083-0.759) โดยรายการทดสอบ RBC และ WBC มีความสอดคล้องในระดับปานกลาง (k=0.559-0.570) และดี (k=0.694-0.759) รายการทดสอบ squamous epithelial cell มีความสอดคล้องในระดับพอใช้ (k=0.296-0.364) ส่วนรายการทดสอบ แบคทีเรียมีความสอดคล้องในระดับเล็กน้อยถึงดี (k=0.083-0.716) และมีค่า concordance rate ที่ร้อยละ 89.52-91.16, 90.07-92.65, 88.71-91.02 และ 51.43-82.99 สำหรับรายการทดสอบ RBC, WBC, squamous epithelial cell และ แบคทีเรีย ตามลำดับ ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่าเครื่องตรวจตะกอนปัสสาวะอัตโนมัติทั้ง 3 เครื่องสามารถนำมาใช้ในห้องปฏิบัติการเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระงานในโรงพยาบาลที่มีปริมาณงานจำนวนมากได้ อย่างไรก็ตามยังจำเป็นต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญในการตรวจยืนยันชนิดตะกอนปัสสาวะด้วยกล้องจุลทรรศน์