การพัฒนาคุณภาพการทดสอบความไวของเชื้อแบคทีเรียต่อสารต้านจุลชีพโดยใช้ แผนควบคุมคุณภาพแบบเฉพาะ (Individualized Quality Control Plan: IQCP) ในโรงพยาบาลสมุทรปราการ
คำสำคัญ:
การทดสอบความไวของเชื้อแบคทีเรียต่อสารต้านจุลชีพ , IQCP, ปัจจัยเสี่ยงบทคัดย่อ
โรคติดเชื้อแบคทีเรียดื้อยาเป็นปัญหาสำคัญทางการแพทย์ การทดสอบความไวของเชื้อแบคทีเรียต่อสารต้านจุลชีพจึงเป็นกระบวนการที่สำคัญเพื่อให้แพทย์ใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจเลือกใช้สารต้านจุลชีพที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วย ในกระบวนการทดสอบความไวของเชื้อแบคทีเรียต่อสารต้านจุลชีพจำเป็นต้องมีการควบคุมคุณภาพการทดสอบที่เหมาะสม แต่แผนควบคุมคุณภาพทั่วไปอาจมีบางส่วนที่ยังไม่เหมาะสมสำหรับงานในห้องปฏิบัติการจุลชีววิทยาคลินิก ซึ่งมีความซับซ้อนของการปฏิบัติงานในแต่ละขั้นตอน การวิจัยครั้งนี้ได้นำ Individualized Quality Control Plan (IQCP) ที่เป็นแผนควบคุมคุณภาพแบบเฉพาะของแต่ละห้องปฏิบัติการมาใช้เพื่อให้สามารถตรวจจับและลดความผิดพลาดที่เกิดขึ้นกับการทดสอบความไวของเชื้อต่อสารต้านจุลชีพในงานจุลชีววิทยาคลินิก โรงพยาบาลสมุทรปราการ ให้ได้ผลการตรวจวิเคราะห์ที่ถูกต้องมีคุณภาพ ผลการศึกษาพบปัจจัยเสี่ยงสาเหตุที่ทำให้เกิดการรายงานผลคลาดเคลื่อนทั้งหมด 37 รายการ มีปัจจัยที่จำเป็นต้องควบคุมด้วย IQCP 13 รายการ หลังนำ IQCP ไปปฏิบัติเป็นระยะเวลา 1 ปี พบว่าสามารถทำให้จำนวนปัจจัยเสี่ยงลดลงจาก 13 รายการ เหลือเพียง 2 รายการ คือขั้นตอนก่อนการวิเคราะห์ 1 รายการ ได้แก่ โคโลนีที่จะทำการทดสอบไม่เป็นโคโลนีเดี่ยว (isolated colony) และขั้นตอนการวิเคราะห์ 1 รายการ ได้แก่ การวัดขนาด inhibition zone ไม่ถูกต้อง จะเห็นได้ว่าการนำ IQCP เข้ามาใช้ช่วยค้นหาปัจจัยสาเหตุที่ทำให้เกิดการรายงานผลการทดสอบความไวของเชื้อแบคทีเรียต่อสารต้านจุลชีพผิดพลาดในขั้นตอนต่างๆ ของการปฏิบัติงาน สามารถนำไปสู่การป้องกันและแก้ไขเพื่อลดข้อผิดพลาดได้