สัดส่วนของผู้ป่วยที่มีผลเป็นลบต่อ Nuclear Pattern ของการตรวจ Antinuclear Antibody และลักษณะของแอนติบอดีจำเพาะที่ตรวจพบ

ผู้แต่ง

  • ทนพญ. วิศันสนีย์ การุญบุญญานันท์ กลุ่มงานเทคนิคการแพทย์ โรงพยาบาลขอนแก่น
  • นพ. กิตติกร ดวงกำ หน่วยโรคข้อและรูมาติสซั่ม กลุ่มงานอายุรกรรม โรงพยาบาลขอนแก่น
  • พญ. พิมพ์ชนก ตันติวงส์ หน่วยโรคข้อและรูมาติสซั่ม กลุ่มงานอายุรกรรม โรงพยาบาลขอนแก่น
  • พญ. สรัสวันต์ คณานุรักษ์ หน่วยโรคไต กลุ่มงานอายุรกรรม โรงพยาบาลขอนแก่น
  • พญ. มนสิตา ตันยะ หน่วยโรคข้อและรูมาติสซั่ม กลุ่มงานกุมารเวชกรรม โรงพยาบาลขอนแก่น
  • ผศ. ทนพ. วิญญู วงศ์ประทุม กลุ่มวิชาภูมิคุ้มกันวิทยาคลินิก สายวิชาเทคนิคการแพทย์ คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
  • พญ. วรายุวดี อมรภิญโญ หน่วยผิวหนัง กลุ่มงานอายุรกรรม โรงพยาบาลขอนแก่น

คำสำคัญ:

โรคภูมิต้านทานเนื้อเยื่อตนเอง, วิธีอินไดเรคอิมมูโนฟลูออเรสเซนซ์, แอนตินิวเคลียร์แอนติบอดีเป็นลบ, แอนติบอดีจำเพาะ

บทคัดย่อ

ผู้ป่วยที่มีอาการทางคลินิกเข้าข่ายเป็นโรคภูมิต้านทานเนื้อเยื่อตนเองบางส่วนอาจตรวจไม่พบแอนติบอดีต่อเซลล์ตนเอง ทั้งในการตรวจคัดกรอง antinuclear antibody (ANA) และการตรวจแอนติบอดีจำเพาะ การศึกษานี้ต้องการประมาณสัดส่วนของผลตรวจ ANA ที่เป็นลบในนิวเคลียส และศึกษาอัตราการตรวจพบและชนิดของแอนติบอดีจำเพาะ รวมทั้งผลการวินิจฉัยโรคทางคลินิก โดยสืบค้นผลตรวจทางห้องปฏิบัติการย้อนหลังของผู้ป่วยในโรงพยาบาลขอนแก่นที่แพทย์สงสัยภาวะภูมิต้านทานเนื้อเยื่อตนเองและส่งตรวจ ANA ด้วยวิธีอินไดเรคอิมมูโนฟลูออเรสเซนซ์ และตรวจแอนติบอดีจำเพาะด้วยวิธี line immunoblot assay (LIA) ในช่วง พ.ศ. 2560–2563 และสืบค้นเวชระเบียนเฉพาะของผู้ป่วยที่มีผลการตรวจ ANA เป็นลบในนิวเคลียสเพื่อรวบรวมผลการวินิจฉัยโรค วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา  สถิติ chi-square test หรือ Fisher’s exact test ผลการศึกษาพบว่าจากตัวอย่างซีรัมผู้ป่วย 1,002 ราย มีผล ANA เป็นลบในนิวเคลียส 127 ราย (ร้อยละ 12.7) ซึ่งในกลุ่มนี้การติดสีในไซโทพลาสซึมสามารถบ่งชี้แนวโน้มการตรวจพบแอนติบอดีจำเพาะได้ (P<0.001) โดยในร้อยละ 16.5 (21/127) ที่ติดสี พบแอนติบอดีจำเพาะถึงร้อยละ 61.9 (13/21) ในขณะที่อีกร้อยละ 83.5 (106/127) ที่ไม่ติดสี พบแอนติบอดีจำเพาะเพียงร้อยละ 14.2 (15/106) และการติดสีในไซโทพลาสซึมยังสามารถบ่งชี้แนวโน้มการวินิจฉัยว่าเป็นผู้ป่วยโรคภูมิต้านทานเนื้อเยื่อตนเอง (P=0.001) ได้อีกด้วย โดยในกลุ่มที่ติดสีได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคกลุ่มนี้ถึงร้อยละ 71.4 (15/21) ในขณะที่กลุ่มที่ไม่ติดสีพบเพียงร้อยละ 32.1 (34/106)  แต่การติดสีในไมโทติกเซลล์ไม่สามารถบ่งชี้แนวโน้มทั้งสองได้ เมื่อพิจารณาการติดสีในไซโทพลาสซึมร่วมกับการตรวจพบแอนติบอดีจำเพาะ พบว่าในกลุ่มที่ติดสีในไซโทพลาสซึม การตรวจพบแอนติบอดีจำเพาะด้วยนำไปสู่การวินิจฉัยว่าเป็นโรคภูมิต้านทานเนื้อเยื่อตนเองในสัดส่วนที่สูงขึ้น คือจากร้อยละ 71.4 (15/21) เมื่อดูเฉพาะผล ANA เป็นร้อยละ 92.3 (12/13) เมื่อพบแอนติบอดีจำเพาะด้วย ซึ่งแอนติบอดีจำเพาะที่ตรวจพบมากที่สุดได้แก่ anti-Ro52 พบร้อยละ 73.3 (11/15) และ anti-SSA พบร้อยละ 40.0 (6/15) และส่วนใหญ่มีความเข้มสูง สำหรับกลุ่มที่ไม่ติดสีในไซโทพลาสซึม มีสัดส่วนของผู้ป่วยที่เป็นโรคภูมิต้านทานเนื้อเยื่อตนเองใกล้เคียงกันทั้งในกลุ่มที่พบและไม่พบแอนติบอดีจำเพาะ คือร้อยละ 33.3 (5/15) ในกลุ่มที่พบ และร้อยละ 31.9 (29/91) ในกลุ่มที่ไม่พบ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการตรวจพบหรือไม่พบแอนติบอดีจำเพาะในกลุ่มที่ไม่ติดสีในไซโทพลาสซึมอาจไม่ช่วยแบ่งแยกผู้ป่วยที่เป็นและไม่เป็นโรคภูมิต้านทานเนื้อเยื่อตนเองให้ชัดเจนขึ้นได้ โดยความเข้มของแอนติบอดีจำเพาะที่พบในผู้ป่วยที่ไม่ใช่โรคภูมิต้านทานเนื้อเยื่อตนเองส่วนใหญ่มีระดับต่ำ โรคที่พบมากที่สุดในผู้ป่วยที่มีผล ANA เป็นลบในนิวเคลียส คือ SLE ซึ่งการติดสีในไซโทพลาสซึมและการตรวจพบแอนติบอดีจำเพาะมีโอกาสนำไปสู่การวินิจฉัยว่าเป็น SLE ได้มากกว่ากลุ่มอื่น (ร้อยละ 30.8; 4/13) แต่จำนวนที่ตรวจพบยังน้อยเกินกว่าจะสรุปในทางสถิติได้ จากผลการศึกษานี้สรุปได้ว่า ในการตรวจคัดกรอง ANA ที่ได้ผลเป็นลบในนิวเคลียส การติดสีในไซโทพลาสซึมเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่ช่วยบ่งชี้โรคภูมิต้านทานเนื้อเยื่อตนเองได้เมื่อใช้ประกอบกับการตรวจพบแอนติบอดีจำเพาะ โดยควรพิจารณาอาการทางคลินิกของผู้ป่วยร่วมด้วย

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2022-09-22

How to Cite

ฉบับ

บท

นิพนธ์ต้นฉบับ