การพัฒนาสารควบคุมคุณภาพการตรวจภาวะตั้งครรภ์ การตรวจโปรตีน และน้ำตาลในปัสสาวะที่เตรียมขึ้นเองในการประเมินคุณภาพการทดสอบของหน่วยบริการปฐมภูมิในเครือข่ายโรงพยาบาลสระบุรี

ผู้แต่ง

  • เกรียงไกร กล้าประจันทร์ -

คำสำคัญ:

การทดสอบสมรรถนะทางห้องปฏิบัติการ แถบทดสอบการตั้งครรภ์ในปัสสาวะ แถบทดสอบโปรตีนและกลูโคสในปัสสาวะ ปัสสาวะควบคุมคุณภาพที่พัฒนาขึ้น

บทคัดย่อ

ชุดทดสอบภาวะการตั้งครรภ์ โปรตีนและกลูโคสในปัสสาวะเป็นการทดสอบทางห้องปฏิบัติการเพื่อการวินิจฉัย ณ จุดที่ทำการรักษาดูแลผู้ป่วย นำมาใช้เพื่อเพิ่มความสะดวกสำหรับผู้ป่วยที่ต้องการผลทางห้องปฏิบัติการโดยเร็ว อย่างไรก็ตามการตรวจวิเคราะห์นอกห้องปฏิบัติการดังกล่าวยังจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับระบบคุณภาพที่เน้นความถูกต้อง แม่นยำและต้องคำนึงถึงสิทธิความปลอดภัยของผู้ป่วย งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาสารควบคุมคุณภาพการตรวจภาวะตั้งครรภ์ การตรวจโปรตีน และน้ำตาลในปัสสาวะที่เตรียมขึ้นเอง เพื่อใช้ทดสอบสมรรถนะของห้องปฏิบัติการของหน่วยบริการปฐมภูมิในเครือข่าย โรงพยาบาลสระบุรี โดยเตรียมตัวอย่างจากปัสสาวะที่เหลือทิ้งจากห้องปฏิบัติการ ปรับค่าฮอร์โมน hCG, โปรตีนและกลูโคสตามกำหนดและทดสอบการรักษาสภาพปัสสาวะที่อุณหภูมิ 4 องศาเซลเซียส ด้วยกรดบอริก 10 กรัมต่อปัสสาวะ 1 ลิตร ซึ่งสามารถรักษาเสถียรภาพของฮอร์โมน hCG และโปรตีนได้อย่างน้อย 15 วัน และกลูโคสได้ 9 วัน และเมื่อใช้กรดบอริก 10 กรัม ร่วมกับสารกันเลือดแข็งตัวชนิดแอซิดซิเตรทเด็กซ์โทรส (acid citrate dextrose, ACD) ในปริมาณ 10 มิลลิลิตรต่อปัสสาวะ 1 ลิตร จะสามารถรักษาเสถียรภาพของฮอร์โมน hCG โปรตีนและกลูโคสได้นานมากกว่า 15 วัน หลังจากนั้นแบ่งตัวอย่างปัสสาวะที่พัฒนาขึ้นอย่างเป็นระบบมาทดสอบคุณภาพโดยทดสอบความเป็นเนื้อเดียวกันและความเสถียรซึ่งผลที่ได้ทั้งหมดอยู่ภายใต้ค่าความคลาดเคลื่อนที่ยอมรับได้และมีคุณภาพเพียงพอในการจัดเก็บที่ 4 องศาเซลเซียส จากนั้นนำส่งปัสสาวะควบคุมคุณภาพที่พัฒนาขึ้นเพื่อใช้ทดสอบสมรรถนะการตรวจภาวะตั้งครรภ์ โปรตีนและกลูโคส โดยการทดสอบเปรียบเทียบระหว่างห้องปฏิบัติการ 126  แห่ง ในเครือข่ายหน่วยบริการปฐมภูมิ โรงพยาบาลสระบุรี จำนวน 2 รอบ รอบละ 2 ตัวอย่าง ได้ผลการประเมินสมรรถนะห้องปฏิบัติการที่ยอมรับได้ (ร้อยละ 100 สำหรับการตรวจฮอร์โมน hCG,  ร้อยละ 98.4 สำหรับการตรวจโปรตีนและกลูโคสในรอบแรก และร้อยละ 100  สำหรับทุกการทดสอบในรอบที่ 2)  โดยสรุป การเตรียมตัวอย่างทดสอบที่พัฒนาขึ้นมีคุณภาพมากเพียงพอเพื่อใช้ทดสอบสมรรถนะและเป็นทางเลือกในการช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของหน่วยบริการปฐมภูมิและโรงพยาบาลแม่ข่ายด้านการดำเนินงานคุณภาพ รวมทั้งเป็นการทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการระหว่างวิชาชีพเทคนิคการแพทย์และสหวิชาชีพในการคุ้มครองผู้บริโภคด้วย

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2022-09-22

How to Cite

ฉบับ

บท

นิพนธ์ต้นฉบับ