การเปรียบเทียบการตรวจวินิจฉัยเชื้อปรสิตในอุจจาระด้วยเทคนิคการทำให้เข้มข้นแบบปั่นตกตะกอนกับชุดตรวจสำเร็จรูป Mini Parasep® SF Faecal Parasite Concentrator

ผู้แต่ง

  • อัสรินดา อับดุลกานาน งานห้องปฏิบัติการเวชศาสตรชันสูตร โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน

คำสำคัญ:

ฟอร์มาลิน-อีเทอร์ ฟอร์มาลิน-เอทธิลอะซีเทต Mini Parasep® SF ปรสิต

บทคัดย่อ

ในปัจจุบัน โรคปรสิตยังคงเป็นปัญหาสาธารณสุขของประเทศไทย โดยยังคงส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ถึงแม้กระทรวงสาธารณสุขจะดำเนินการเพื่อควบคุมโดยการส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจ การป้องกันไม่ให้ติดเชื้อเข้าสู่ร่างกาย และมีนโยบายมาตรการควบคุม ป้องกัน และรักษาโรคพยาธิ แต่ก็ยังพบโรคพยาธิกระจายอยู่ทุกภูมิภาคของประเทศ ซึ่งแตกต่างกันไปตามประเภทและชนิดของโรค การศึกษาครั้งนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อตรวจหาเชื้อปรสิตโดยเปรียบเทียบประสิทธิภาพของการตรวจอุจจาระแบบเข้มข้น 3 วิธี ได้แก่ วิธีปั่นตกตะกอนโดยใช้ฟอร์มาลิน-อีเทอร์ (FECT) วิธีปั่นตกตะกอนโดยใช้ฟอร์มาลิน-เอทธิลอะซีเทต (FACT) และวิธีปั่นตกตะกอนโดยใช้หลอดตรวจเข้มข้นแบบ Mini Parasep® SF ในผู้ที่มารับบริการของโรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน ช่วงเดือนตุลาคม พ.ศ. 2562 ถึงเดือนกันยายน พ.ศ. 2564 จำนวน 360 ราย พบว่าการตรวจด้วยวิธี FECT และ FACT สามารถพบเชื้อปรสิตมากที่สุดร้อยละ 28 ส่วนการตรวจด้วยวิธี Mini Parasep® SF พบเชื้อปรสิตร้อยละ 25 โดยชนิดของไข่พยาธิและตัวอ่อนพยาธิที่พบมากที่สุดคือ Opisthorchis viverrini และชนิดของโปรโตซัวที่พบมากที่สุดคือ Giardia lamblia ความไวในการตรวจหาปรสิตโดยวิธี FECT, FACT และ Mini Parasep® SF มีค่าเท่ากับร้อยละ 99.03, 99.03 และ 90.29 ตามลำดับ และค่าทำนายผลลบเท่ากับร้อยละ 99.61, 99.61 และ 96.25 ตามลำดับ  ผลการศึกษาสามารถสรุปได้ว่า การตรวจด้วยวิธี FECT และ FACT ให้ค่าความไวและค่าทำนายผลลบที่สูงกว่าวิธี Mini Parasep® SF แต่เมื่อเทียบกันด้วยค่าสถิติ chi-square พบว่าทั้งสามวิธีไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ (p>0.05) และพบค่าสัมประสิทธิ์แคปปาที่สูง แสดงว่าผลการตรวจวิเคราะห์มีความสอดคล้องกันในระดับที่สูงมาก ซึ่งแสดงให้เห็นว่าวิธี FECT ,FACT และ Parasep® SF สามารถนำมาใช้ตรวจหาปรสิตทดแทนกันได้ ดังนั้นการเลือกใช้วิธีใดในการตรวจหาปรสิตควรเป็นไปตามความสามารถของแต่ละห้องปฏิบัติการ

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2022-09-22

How to Cite

ฉบับ

บท

นิพนธ์ต้นฉบับ