การประเมินสมรรถนะการตรวจทางห้องปฏิบัติการ 4 รายการพื้นฐานที่ดำเนินการ ณ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลใน 2 เขตสุขภาพภาคเหนือ ผ่านโปรแกรมการทดสอบ ความชำนาญตามเกณฑ์มาตรฐานสากล

ผู้แต่ง

  • ครรชิต คงรส

คำสำคัญ:

การตรวจทางห้องปฏิบัติการ, การตรวจ ณ จุดดูแลผู้ป่วย, วัสดุอ้างอิง, การตรวจวัดกึ่งปริมาณ

บทคัดย่อ

การศึกษานี้ประเมินสมรรถนะการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ได้แก่ การตรวจวัดปริมาณน้ำตาลในเลือดด้วยเครื่องตรวจวัดชนิดพกพา การตรวจวัดปริมาณเม็ดเลือดแดงอัดแน่นด้วยเครื่องปั่นเหวี่ยง การตรวจน้ำตาล โปรตีน และฮอร์โมน เอชซีจี ในปัสสาวะด้วยแถบทดสอบ โดยใช้วัสดุแปรรูปจากเลือดที่เตรียมขึ้นเอง และวัสดุควบคุมคุณภาพที่นำเข้าจากต่างประเทศเป็นวัสดุทดสอบความชำนาญ ดำเนินการประเมินผ่านโปรแกรมการทดสอบความชำนาญตามแนวทางของมาตรฐาน ISO/IEC 17043:2010 โดยทดสอบสมบัติความเป็นเนื้อเดียวกันและความคงตัวของพารามิเตอร์ทั้ง 4 รายการในวัสดุทดสอบความชำนาญ ก่อนส่งให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) 2 รอบ (รอบที่ 1 จำนวน 411 แห่ง และรอบที่ 2 จำนวน 435 แห่ง) รอบละ 2 ตัวอย่างต่อรายการ รวมทั้งหมด 12 ตัวอย่าง ประเมินสมรรถนะการตรวจวัดเชิงปริมาณตามมาตรฐาน ISO 13528:2015 โดยใช้ค่า z score และค่า IzI ≤ 2.0 เป็นเกณฑ์ผ่าน ส่วนการตรวจวัดเชิงคุณภาพใช้ค่าเฉลี่ยพ้องกลุ่มฐานนิยม ± 1 ระดับ หรือ ± 1 ระดับร่วมกับค่าเป้าหมายของโรงงานผู้ผลิตเป็นเกณฑ์ผ่าน รวมทั้งสำรวจข้อมูลเกี่ยวกับการตรวจทางห้องปฏิบัติการทั้ง 4 รายการ ในประเด็นการควบคุมคุณภาพ ปัญหาที่พบในการตรวจวัด และการฝึกอบรมโดยใช้แบบสอบถาม ผลการศึกษาพบว่า วัสดุทดสอบความชำนาญทั้ง 4 รายการ ส่วนใหญ่มีความเป็นเนื้อเดียวกันและมีความคงตัว แต่วัสดุทดสอบความชำนาญปริมาณเม็ดเลือดแดงอัดแน่น 1 ตัวอย่างไม่มีความเป็นเนื้อเดียวกัน คิดเป็นร้อยละ 8.3 (1/12) และวัสดุทดสอบความชำนาญน้ำตาลในเลือดไม่มีความคงตัว ณ วันสิ้นสุดการดำเนินการทดสอบความชำนาญ 1 ตัวอย่างคิดเป็นร้อยละ 9.1 (1/11)  ในภาพรวม รพ.สต. ใน 2 เขตสุขภาพมีสมรรถนะการตรวจวัดทั้ง 4 รายการผ่านตามเกณฑ์เฉลี่ยร้อยละ 90 (81.3-96.3) และมี รพ.สต. (ร้อยละ 10) ที่ไม่ผ่านตามเกณฑ์ โดยการตรวจวัดปริมาณน้ำตาลในเลือดด้วยเครื่องตรวจวัดชนิดพกพามีสมรรถนะไม่ผ่านตามเกณฑ์มากที่สุด (ร้อยละ 18.7) ผลการสำรวจข้อมูลด้วยแบบสอบถามพบว่า รพ.สต. มีการดำเนินการควบคุมคุณภาพการตรวจวัดปริมาณเม็ดเลือดแดงอัดแน่นด้วยเครื่องปั่นเหวี่ยงน้อยกว่ารายการตรวจอื่น ๆ  และไม่พบมีการฝึกอบรมการตรวจปัสสาวะเชิงคุณภาพด้วยแถบทดสอบให้แก่บุคลากรของ รพ.สต. ส่วนการตรวจวัดทางห้องปฏิบัติการพื้นฐานที่พบว่าเป็นปัญหามากที่สุดคือการตรวจวัดปริมาณน้ำตาลในเลือดด้วยเครื่องตรวจวัดชนิดพกพา โดยสรุป รพ.สต. ใน 2 เขตสุขภาพร้อยละ 90 มีสมรรถนะการตรวจวัดทางห้องปฏิบัติการพื้นฐาน 4 รายการผ่านตามเกณฑ์ โดยมีร้อยละ 10 ที่ควรปรับปรุงระบบการควบคุมคุณภาพเพื่อพัฒนาการเพิ่มสมรรถนะการตรวจทางห้องปฏิบัติการต่อไป

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2021-11-25

How to Cite

ฉบับ

บท

นิพนธ์ต้นฉบับ