ระดับ C-reactive Protein, Soluble P-selectin และ Cardiac Troponin I ในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังที่ไม่ได้รับการบำบัดทดแทนไต
คำสำคัญ:
โรคไตเรื้อรัง, ภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน, ซีรีแอคทีฟโปรตีน, รีแอคทีฟโปรตีน โทรโปนิน, โทรโปนินไอ พี-ซีเล็กตินบทคัดย่อ
โรคไตเรื้อรังเป็นปัญหาสาธารณสุขระดับโลก โดยภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันเป็นภาวะแทรกซ้อนสำคัญที่ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต กลไกการเกิดภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคหลอดเลือดแข็ง ซึ่งมีการอักเสบและการทำงานของเกล็ดเลือด การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาระดับตัวบ่งชี้การอักเสบ (C- reactive protein, CRP) การทำงานของเกล็ดเลือด (soluble P- selectin, sP-sel) และการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อหัวใจ (cardiac troponin I, cTnI) ในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะที่ 3a ถึง 4 ที่ยังไม่ได้รับการฟอกไต โดยเก็บตัวอย่างพลาสมาจากผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง 171 ราย นำมาวิเคราะห์ระดับ high-sensitivity C-reactive protein (hs-CRP) ด้วยวิธี immunoturbidimetric assay ระดับ high-sensitivity cTnI (hs-cTnI) ด้วยวิธี chemiluminescence microparticle immunoassay (CMIA) และระดับ soluble P-selectin (sP-sel) ด้วยวิธี enzyme-linked immunosorbent assay (ELISA) ผลการศึกษาในกลุ่มผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังซึ่งแบ่งเป็นระยะที่ 3a, 3b และ 4 จำนวน 41, 65 และ 65 ราย ตามลำดับ พบว่าผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะที่ 3a, 3b และ 4 มีค่ามัธยฐาน (ค่าพิสัยระหว่างควอไทล์) ของระดับ hs-CRP เท่ากับ 1.17 (0.54-1.62), 1.84 (0.73-5.15) และ 2.47 (0.82-12.44) มิลลิกรัมต่อลิตรตามลำดับ ระดับ sP- selectin เท่ากับ 56.73 (49.02-65.21), 51.02 (40.15-63.4) และ 47.97 (32.79-66.05) นาโนกรัมต่อมิลลิลิตรตามลำดับ และระดับ hs-cTnI เท่ากับ 6.3 (3.6-9.9), 11.7 (5.6-67.39) และ 18.9 (8.4-45.6) นาโนกรัมต่อลิตรตามลำดับ ผลการทดสอบทางสถิติพบว่าระดับ hs-CRP และ hs-cTnI เพิ่มขึ้นตามระยะของโรคไตเรื้อรังอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p = 0.002 และ < 0.001 ตามลำดับ) ในขณะที่ระดับ sP-sel ลดลงในโรคไตเรื้อรังระยะที่ 4 เมื่อเทียบกับระยะที่ 3a (p = 0.016) และ 3b (p = 0.183) นอกจากนี้ ระยะของโรคไตเรื้อรังยังมีความสัมพันธ์เชิงบวกกับระดับ hs-CRP และ hs-cTnI อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (r = 0.165, p = 0.016 และ r = 0.318, p < 0.001 ตามลำดับ) แต่มีความสัมพันธ์เชิงลบกับค่า sP-sel อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (r = -0.188, p = 0.006) จากผลการศึกษานี้สรุปได้ว่าผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังมีตัวบ่งชี้ภาวะอักเสบและการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อหัวใจเพิ่มขึ้นสัมพันธ์กับระยะของโรค การศึกษาเพิ่มเติมจะนำไปสู่การประยุกต์ใช้การตรวจ hs-CRP และ hs-TnI ในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังเพื่อประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันได้