ความเสี่ยงต่อการรับสัมผัสจากตะกั่วและแคดเมียมในเด็กก่อนวัยเรียนในชุมชนรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์
คำสำคัญ:
ขยะอิเล็กทรอนิกส์ แคดเมียม ตะกั่ว ระดับตะกั่วในเลือด ระดับแคดเมียมในเลือดบทคัดย่อ
ตะกั่วและแคดเมียมเป็นโลหะหนักที่พบได้ในขยะอิเล็กทรอนิกส์ โดยระดับตะกั่วและแคดเมียมในเลือดสัมพันธ์กับความผิดปกติของการพัฒนาทางร่างกายในเด็ก การศึกษาครั้งนี้ จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อตรวจวัดระดับตะกั่วในเลือด (Blood lead levels (BLLs)) และระดับแคดเมียมในเลือด (blood cadmium levels (BCLs)) และศึกษาผลของ BLLs และ BCLs ต่อการพัฒนาทางร่างกายในเด็ก รวมทั้งศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อ BLLs และ BCLs ในเด็กในชุมชนเสือใหญ่อุทิศ เขตจตุจักร ชุมชนรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ โดยทำการตรวจวัด BLLs และ BCLs จากเลือดปลายนิ้วด้วยเครื่อง ICP-MS ทำการเปรียบเทียบ BLLs และ BCLs ของเด็กในชุมชนเสือใหญ่ฯ อายุระหว่าง 6 เดือนถึง 6 ปี จำนวน 22 คน หรือกลุ่มรับสัมผัส กับกลุ่มอ้างอิง หรือเด็กที่อาศัยนอกเขตจตุจักร จำนวน 22 คน ที่มีอายุเท่ากันและเพศเดียวกันกับเด็กในกลุ่มรับสัมผัส จากคลินิกผู้ป่วยนอก สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ผลการศึกษา พบว่าค่าเฉลี่ยของ BLLs และ BCLs ในกลุ่มรับสัมผัส มีค่าเท่ากับ 8.60 ± 1.58 µg/dL และ 2.01 ± 0.20 µg /L ซึ่งสูงกว่าในกลุ่มอ้างอิงที่ 3.07 ± 0.27 µg/dL และ 0.58 ± 0.12 µg/L ด้วย p-value เท่ากับ 1.3x10-4 และ 0.4x10-5 ตามลำดับ การศึกษานี้ไม่พบความผิดปกติของพัฒนาการทางร่างกายและภาวะโลหิตจางตามมาตรฐานเด็กไทยในกลุ่มรับสัมผัส ปัจจัยที่ส่งผลต่อ BLLs และ BCLs ในกลุ่มรับสัมผัสมากที่สุด ได้แก่ การที่เด็กอยู่บ้านในขณะที่ผู้ปกครองทำการคัดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์ และการเก็บขยะอิเล็กทรอนิกส์ไว้ในบ้าน การศึกษานี้แสดงให้เห็นว่า เด็กในชุมชนรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์มีความเสี่ยงต่อการได้รับพิษจากโลหะหนัก เพื่อป้องกันความเสี่ยงดังกล่าว พระราชบัญญัติการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ควรจะได้รับการพิจารณาและบังคับใช้