อัตราการติดเชื้อ SARS-CoV2 ของสองช่วงการระบาดของ COVID-19 และความสัมพันธ์ของ cycle threshold ของสองยีนที่ใช้ในการวินิจฉัยกับภาวะปอดอักเสบ ในโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร
คำสำคัญ:
โควิด-19, ภาวะปอดอักเสบ, Cycle threshold (Ct), r RT-PCR, X-ray ทรวงอกบทคัดย่อ
จากข้อมูลของศูนย์แถลงข่าวโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำนักสารสนเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข การระบาดของโรค COVID ในประเทศไทยเกิดขึ้น 2 ระลอก ในระลอกแรกเริ่มพบผู้ติดเชื้อเป็นกลุ่มใหญ่ (cluster) จากตลาดสด ในจังหวัดสมุทรสาคร ตั้งแต่เดือนธันวาคม พ.ศ.2563 ถึงเดือนมีนาคม พ.ศ.2564 และในระลอกหลังพบการติดเชื้อกลุ่มใหญ่เกี่ยวข้องกับสถานบันเทิง ในกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่เดือนเมษายน พ.ศ.2564 ระบาดต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ห้องปฏิบัติการอณูชีววิทยา โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ ได้ให้บริการตรวจหาเชื้อไวรัส Severe Acute Respiratory Syndrome–Coronavirus-2 : SARS-CoV-2 (COVID-19) ด้วยเทคนิค real-time RT-PCR (r RT-PCR) การศึกษาจากข้อมูลย้อนหลังนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาอัตราการติดเชื้อในการระบาดแต่ละระลอก และการกระจายตัวของอายุผู้ติดเชื้อ นอกจากนี้ยังหาความสัมพันธ์ของภาวะปอดอักเสบกับผลการทดสอบที่ได้ จากข้อมูลผู้ติดเชื้อจำนวนทั้งสิ้น 23,037 ราย ตั้งแต่เดือนธันวาคม พ.ศ. 2563 ถึงเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2564 พบอัตราการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ร้อยละ 5.85 โดยในระลอกแรกจำนวน 8,128 รายพบร้อยละ 0.29 และในระลอกสองจำนวน 14,909 รายพบร้อยละ 8.89 โดยมีอัตราการติดเชื้อในผู้ที่มีอายุ ≤60 ปี ระลอกแรกและระลอกสอง ร้อยละ 0.34 และ 9.17 ตามลำดับ (แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ p value <0.05 ) ในทำนองเดียวกันกับผู้สูงอายุ >60 ปี ที่มีอัตราการติดเชื้อ ร้อยละ 0.17 และ 7.66 ตามลำดับ (p value <0.05 ) พบว่าผู้ติดเชื้อโควิด-19 เป็นเพศหญิง: ชาย สัดส่วน 1.2 : 1 และช่วงอายุที่พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 มากที่สุดคือ 21-30 ปี โดยการระบาดช่วงแรก พบอายุตั้งแต่ 7-78 ปี ประมาณ 2 ใน 3 เป็นผู้อยู่ในวัยทำงานอายุระหว่าง 21-50 ปี ในขณะที่การระบาดช่วงหลังมีการกระจายของช่วงอายุกว้างขึ้นตั้งแต่น้อยกว่า 1 ปีจนถึงอายุ 96 ปี และประมาณครึ่งหนึ่งอยู่ในวัยทำงาน
จากการตรวจวินิจฉัยการติดเชื้อโควิด-19 โดยตรวจหาสารพันธุกรรมที่จำเพาะต่อเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้แก่ ORF-1ab และ N gene ด้วยเทคนิค r RT-PCR และวิเคราะห์ผลของค่า Cycle threshold (Ct) ของการตรวจพบยีนทั้ง 2 ชนิดนี้ พบว่าค่า Ct ของการระบาดช่วงหลัง มีค่าเฉลี่ยลดลงเล็กน้อย แต่ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ กล่าวคือค่า Ct ของ ORF-1ab เฉลี่ยเท่ากับ 26 (13-36) และ 25 (13-40) ตามลำดับ (p value = 0.38 ) และค่า Ct ของ N-gene เฉลี่ยเท่ากับ 23 (11-33) และ 22 (10-38) ตามลำดับ (p value = 0.13) นอกจากนี้เพื่อประเมินความสัมพันธ์ของภาวะปอดอักเสบกับผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ผู้วิจัยได้นำผลการตรวจ X ray ทรวงอก มาเปรียบเทียบกับผลของค่า Ct ผลการศึกษาพบว่า ค่า Ct ของ ORF-1ab ของผู้ติดเชื้อที่ไม่มีภาวะปอดอักเสบ (38 ราย) และผู้ที่มีแนวโน้มหรือมีภาวะปอดอักเสบชัดเจน (158 ราย) เฉลี่ยเท่ากับ 24.83 (13.44-38.04) และ 25.80 (15.43-38.41) ตามลำดับ (p value = 0.39) และ ค่า Ct ของ N-gene เฉลี่ยเท่ากับ 21.67 (11.13-34.05) และ 22.27 (12.92-34.66) ตามลำดับ (p value = 0.58) สรุปได้ว่าผลการตรวจ Ct ไม่สัมพันธ์กับภาวะปอดอักเสบ