การบริโภคยาสูบ เจตคติและการได้รับความรู้เรื่องการควบคุมยาสูบของนิสิตนักศึกษาเทคนิคการแพทย์

ผู้แต่ง

  • พิศิษฐ์ นามจันทรา คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยรังสิต จังหวัดปทุมธานี

คำสำคัญ:

ยาสูบ, เจตคติ, การควบคุมยาสูบ, นักศึกษา, เทคนิคการแพทย์

บทคัดย่อ

การสำรวจพฤติกรรมการบริโภคยาสูบ เจตคติและการได้รับความรู้เรื่องการควบคุมยาสูบในนิสิตนักศึกษาเทคนิคการแพทย์ชั้นปีที่ 3 ของสถาบันผลิตเทคนิคการแพทย์ในประเทศไทยจำนวน 14 สถาบัน โดยใช้แบบสอบถามที่พัฒนาจากแบบสอบถามขององค์การอนามัยโลก โดยมีผู้ตอบแบบสอบถามจำนวน 887 คน คิดเป็นร้อยละ 80.1 ผลการสำรวจพบว่า อัตราการสูบบุหรี่ซอง บุหรี่มวนเอง บุหรี่ไฟฟ้า และผลิตภัณฑ์ยาสูบประเภทอื่นคิดเป็นร้อยละ 0.6, 0.3, 2.6, และ 0.2 ตามลำดับ อัตราการได้รับควันบุหรี่มือสองคิดเป็นร้อยละ 18.4 นิสิตนักศึกษาที่รับทราบว่าสถาบันการศึกษาเป็นเขตปลอดบุหรี่ตามกฎหมาย เคยเห็นป้ายห้ามสูบบุหรี่ภายนอกอาคารและเคยเห็นป้ายห้ามสูบบุหรี่ภายในอาคารคิดเป็นร้อยละ 91.7, 87.7, และ 87.4 ตามลำดับ อัตราการได้รับการสอนเรื่องพิษภัยของผลิตภัณฑ์ยาสูบ เทคนิคการให้คำปรึกษาการเลิกบุหรี่ ยาและผลิตภัณฑ์ช่วยเลิกบุหรี่ และกลยุทธ์การตลาดของอุตสาหกรรมยาสูบคิดเป็นร้อยละ 70.1, 26.2, 33.3, และ 17.8 ตามลำดับ นิสิตนักศึกษาส่วนใหญ่รับทราบว่าบุหรี่ไฟฟ้าทำให้เกิดการเสพติด ทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพ และไม่สามารถใช้ในการเลิกบุหรี่ อย่างไรก็ตามมีนิสิตนักศึกษาบางส่วนเห็นว่าบุหรี่ไฟฟ้าเป็นผลิตภัณฑ์แฟชั่นสำหรับวัยรุ่น การสำรวจครั้งนี้ได้แสดงให้เห็นว่านิสิตนักศึกษาเทคนิคการแพทย์มีอัตราของการบริโภคผลิตภัณฑ์ยาสูบที่ตํ่า แต่อย่างไรก็ตามสถาบันการศึกษาควรมีการเพิ่มพูนความรู้ และทักษะในเรื่องการควบคุมยาสูบให้มากขึ้น เพื่อให้นิสิตนักศึกษาเทคนิคการแพทย์สามารถให้คำแนะนำแก่ประชาชนและมีบทบาทสำคัญในการควบคุมการบริโภคยาสูบภายหลังการสำเร็จการศึกษา

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2022-03-25

How to Cite

ฉบับ

บท

นิพนธ์ต้นฉบับ