ความชุกพาหะธาลัสซีเมียในคู่สมรสต่างด้าวที่มาฝากครรภ์ของสถาบันพัฒนาสุขภาวะเขตเมือง กรุงเทพฯ

ผู้แต่ง

  • ณัชชา หิริโอตัปปะ

คำสำคัญ:

ธาลัสซีเมีย, การคัดกรองพาหะธาลัสซีเมีย, โรคธาลัสซีเมียชนิดรุนแรง, สถาบันพัฒนาสุขภาวะเขตเมือง กรุงเทพฯ

บทคัดย่อ

โรคโลหิตจางธาลัสซีเมียจัดเป็นโรคทางพันธุกรรมที่เป็นปัญหาสำคัญสำหรับประเทศไทย ประชากรไทยมีคนที่เป็นพาหะของธาลัสซีเมีย (thalassemia carrier) ในสัดส่วนที่แตกต่างกันไปตามภูมิภาค  ในแต่ละปีมีผู้ป่วยโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียเกิดใหม่จำนวนปีละไม่ต่ำกว่า10,000 ราย ซึ่งผู้ป่วยเหล่านี้มีอาการรุนแรงและมีภาวะซีด ปัจจุบันมีการย้ายถิ่นฐานของประชากรต่างด้าวมาประกอบอาชีพในประเทศไทยจำนวนมาก ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องศึกษาความชุกของพาหะธาลัสซีเมีย พร้อมทั้งวิเคราะห์ความเป็นไปได้ในการเกิดบุตรต่างด้าวที่เป็นโรคธาลัสซีเมียชนิดรุนแรง จากการศึกษาในช่วงเดือนมกราคม – เดือนธันวาคม พ.ศ. 2562 โดยการตรวจหาพาหะธาลัสซีเมียในคู่สมรสต่างด้าวที่มาฝากครรภ์ที่สถาบันพัฒนาสุขภาวะเขตเมือง กรุงเทพฯ จำนวน 81คู่ (162 คน) จำแนกเป็น พม่า 56 คน (ร้อยละ 34.57) ลาว 58 คน (ร้อยละ 35.80) กัมพูชา 48 คน (ร้อยละ 29.63) ซึ่งการตรวจวินิจฉัยเบต้า-ธาลัสซีเมีย (beta-thalassemia) ทำโดยการตรวจวิเคราะห์ปริมาณและชนิดของฮีโมโกลบินด้วยวิธีแคปิลารี อิเล็กโตรโฟรีซี(capillary electrophoresis) และตรวจวินิจฉัยอัลฟา-ธาลัสซีเมีย-1 ชนิด SEA และ THAI type deletions โดยวิธี real -time PCR พบว่าในจำนวน 162 ราย มีผู้ที่เป็นพาหะของเบต้า-ธาลัสซีเมีย 5 ราย (ร้อยละ 3.09)   พาหะฮีโมโกลบินอี 54 ราย (ร้อยละ 33.33)   พาหะฮีโมโกลบินอีร่วมกับพาหะอัลฟา-ธาลัสซีเมีย-1ชนิด SEA type deletion 3 ราย (ร้อยละ 1.85)  โฮโมไซกัสฮีโมโกลบินอี 12 ราย(ร้อยละ 7.41) และพาหะอัลฟา-ธาลัสซีเมีย-1 ชนิด SEA type deletion 8 ราย (ร้อยละ 4.94) นอกจากนี้พบคู่เสี่ยงชาวลาวที่มีโอกาสเกิดบุตรเป็นโรค เบต้า-ธาลัสซีเมีย/ฮีโมโกลบินอี (beta-thalassemia /HbE disease) 1 คู่ เมื่อคํานวณตามหลักการทางพันธุศาสตร์โดยใช้สูตรของฮาร์ดีและไวน์เบิร์ก (Hardy-Weinberg formulation) เพื่อประเมินความเป็นไปได้ในการเกิดบุตรเป็นโรคธาลัสซีเมียชนิดรุนแรง ของสตรีต่างด้าวที่ตั้งครรภ์ทุก 10,000 ราย พบว่ามีโอกาสที่จะเกิดบุตรเป็นโฮโมไซกัสเบต้า-ธาลัสซีเมีย 3 คน  เบต้า-ธาลัสซีเมีย/ฮีโมโกลบินอี 75 คน และฮีโมโกลบินบาร์ต ไฮดรอป ฟีทัลลิส (Hb Bart’s hydrops fetalis) 12 คน ดังนั้นจึงควรมีการควบคุมป้องกันโรค และการบริหารจัดการดูแลในระดับประเทศอย่างจริงจังต่อไป

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2020-11-27

How to Cite

ฉบับ

บท

นิพนธ์ต้นฉบับ