บทบาทของโมเลกุล MHC กับการตอบสนองทางภูมิคุ้มกัน และผลสัมฤทธิ์ของวัคซีนไวรัส
บทคัดย่อ
มักเป็นที่เข้าใจกันโดยทั่วไปว่าการได้รับวัคซีนไวรัสคือการสร้างภูมิคุ้มกันอย่างได้ผลสมบูรณ์สำหรับตัวเองต่อเชื้อไวรัสชนิดนั้นๆ แต่จากรายงานการวิจัยเท่าที่มีการศึกษาพบว่าวัคซีนไวรัสที่มีอยู่ในระบบสาธารณสุขในปัจจุบันไม่ให้ประสิทธิผลอย่างที่เข้าใจและยังพบว่าวัคซีนไวรัสบางชนิดให้ประสิทธิผลต่ำกว่าร้อยละห้าสิบในกลุ่มประชากรที่ได้ศึกษา บทความนี้นำเสนอความสำคัญของโมเลกุล major histocompatibility complex (MHC) ที่มีผลต่อการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันต่อการทำงานของ helper T cell (Th) และ cytotoxic T cell (Tc) ด้วยการเข้าจับกับเพบไทด์สายสั้นๆที่เรียกว่า อิพิโทป ทำให้เกิดโมเลกุลเชิงซ้อน MHC-peptide complex ซึ่งสามารถกระตุ้น T lymphocyte ผ่านโมเลกุลตัวรับบนผิวเชลล์ที่เรียกว่า T cell receptor (TCR) อย่างจำเพาะ(MHC restriction) โมเลกุล MHC จำแนกได้เป็นสองแบบคือ class I และ class II โดย MHC class I มีผลต่อการทำงานของ Tc cell ส่วน MHC class II มีผลต่อ Th cell ในมนุษย์ ยีน MHC class I ประกอบด้วยสามโลคัสหลักคือ HLA-A, -B, และ -C ขณะที่ MHC class II ประกอบด้วยโลคัส HLA-DP, -DQ และ -DR และเนื่องจาก MHC เป็นโมเลกุลที่มีความหลากหลายสูง โดยมีรายงานว่ายีน HLA แต่ละโลคัสมีมากกว่าหนึ่งพันยีนอัลลีล ดังนั้นด้วยเหตุผลการถ่ายทอดทางพันธุกรรมจึงทำให้มนุษย์แต่ละคนมียีนอัลลีลของ HLA ที่แตกต่างกันอย่างหลากหลาย ทำให้โมเลกุล MHC แต่ละอัลลีลมีความสามารถจับกับอิพิโทปต่างกัน เป็นเหตุให้ความสามารถการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมในแต่ละคนมีความมากน้อยแตกต่างกันและทำให้ผู้ที่ขาด MHC อัลลีลที่เหมาะสมไม่สามารถตอบสนองต่ออิพิโทปบางชนิดของแอนติเจน รวมทั้งของเชื้อไวรัส บทความนี้นำเสนอความสัมพันธ์ระหว่างความสามารถในการสร้างภูมิคุ้มกันจากการได้รับวัคซีนไวรัสกับโมเลกุล MHC อัลลีลที่แตกต่างกันในแต่ละบุคคล และชี้ให้เห็นความจำเป็นที่ต้องมีการตรวจทางน้ำเหลืองวิทยาโดยนักเทคนิคการแพทย์ เพื่อติดตามการสร้างภูมิคุ้มกันหลังจากที่ได้รับวัคซีนไวรัส โดยควรจัดเป็นกิจกรรมร่วมอยู่ในโปรแกรมการให้วัคซีนไวรัสแก่ผู้รับวัคซีนไวรัสทุกๆคน