ความชุกของการดื้อยาโคลิสตินของแบคทีเรีย Enterobacteriaceae ที่ดื้อต่อยากลุ่ม third generation cephalosporins หรือคาร์บาพีเนมที่แยกได้จากสิ่งส่งตรวจของผู้ป่วยในโรงพยาบาลราชบุรี

ผู้แต่ง

  • เสกสรรค์ สโมสรสุข

คำสำคัญ:

Enterobacteriaceae, ที่ดื้อโคลิสติน, ยีน mcr-1

บทคัดย่อ

ปัจจุบันมีรายงานแบคทีเรียแกรมลบดื้อยากลุ่มคาร์บาพีเนม (carbapenems) ร่วมกับการดื้อยาโคลิสติน (colistin) เพิ่มขึ้นทั่วโลก และมีรายงานพบยีน mcr-1 ซึ่งเป็นยีนสัมพันธ์กับการดื้อยาโคลิสตินบนพลาสมิด จึงต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งกับการศึกษาวิจัยแบคทีเรียเหล่านี้ เนื่องจากโคลิสตินเป็นยาลำดับท้ายๆ สำหรับรักษาโรคติดเชื้อจากแบคทีเรียแกรมลบที่ดื้อต่อยาเกือบทุกขนาน ดังนั้น ความรู้เกี่ยวกับแบคทีเรียดื้อยาโคลิสติน ในพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศ จะช่วยสนับสนุนมาตรการการควบคุมและป้องกันการแพร่กระจายเชื้อดื้อยาเหล่านี้ได้ การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อหาความชุกของการดื้อยาโคลิสติน และหายีน mcr-1 ของเชื้อแบคทีเรียแกรมลบวงศ์ Enterobacteriaceae ที่ดื้อต่อยากลุ่ม third generation cephalosporins และหรือคาร์บาพีเนม ที่แยกได้จากสิ่งส่งตรวจที่ส่งตรวจเพาะเชื้อที่ห้องปฏิบัติการจุลชีววิทยา โรงพยาบาลราชบุรี ตั้งแต่เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2559 ถึงเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2560 ตัวอย่างเชื้อแบคทีเรียแกรมลบวงศ์ Enterobacteriaceae ที่ดื้อยากลุ่ม third generation cephalosporins หรือคาร์บาพีเนมที่แยกได้จากสิ่งส่งตรวจ ซึ่งเป็นตัวอย่างจากผู้ป่วยไม่ซ้ำรายและไม่เป็นเชื้อที่ดื้อยา colistin โดยกำเนิด (intrinsic resistance) จำนวนทั้งสิ้น 243 ตัวอย่าง ถูกนำมาคัดกรองการดื้อต่อยา colistin โดยใช้ Mueller Hinton agar ผสม 2 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร จากนั้น นำเชื้อที่ดื้อต่อยาโคลิสติน จากการคัดกรอง มาทดสอบหาค่า minimal inhibitory concentration (MIC) ต่อโคลิสตินด้วยวิธี broth microdilution และตรวจหายีน mcr-1 ด้วยวิธี polymerase chain reaction (PCR) จากการศึกษาพบว่า ในเชื้อแกรมลบ Enterobacteriaceae ดื้อต่อยากลุ่ม third generation cephalosporins หรือคาร์บาพีเนมจำนวน 243 ตัวอย่าง พบเชื้อดื้อต่อยาโคลิสติน จำนวน 40 ตัวอย่าง (ร้อยละ 16.5) โดยพบมากที่สุดจากผู้ป่วยแผนกศัลยกรรม แผนกอายุรกรรม และแผนกผู้ป่วยระยะวิกฤต (intensive care unit, ICU) คิดเป็นร้อยละ 45.0, 37.5 และ 10.0 ตามลำดับ ชนิดของสิ่งส่งตรวจที่พบเชื้อดื้อต่อโคลิสตินมากที่สุด ได้แก่ ปัสสาวะ เสมหะ และ หนองหรือไม้ป้าย (swab) คิดเป็นร้อยละ 42.5, 27.5 และ15.0 ตามลำดับ โดยค่า MIC ต่อยาโคลิสตินพบอยู่ในช่วง 4 ถึง >64 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร และพบเชื้อที่ให้ผลบวกต่อยีน mcr-1 จำนวน 6 ตัวอย่าง ซึ่งเป็น Escherichia coli ทั้งหมด เชื้อที่พบยีน mcr-1 ได้จากผู้ป่วยแผนกศัลยกรรม 5 ตัวอย่าง และอายุรกรรม 1 ตัวอย่าง โดยแยกได้จากสิ่งส่งตรวจชนิดหนองหรือไม้ป้าย 3 ตัวอย่าง เสมหะ 2 ตัวอย่าง และเลือด 1 ตัวอย่าง และมีค่า MIC ต่อยาโคลิสตินอยู่ในช่วง 4 ถึง 16 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร โดยสรุปความชุกของการดื้อต่อยาโคลิสติน และการพบยีน mcr-1 ในเชื้อ Enterobacteriaceae ดื้อต่อยากลุ่ม third generation cephalosporins หรือคาร์บาพีเนมที่แยกได้จากผู้ป่วยโรงพยาบาลราชบุรี จะเป็นข้อมูลให้แก่แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องตระหนักในการเลือกใช้ยารักษา ตลอดจนใช้ประกอบการจัดทำมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่กระจายเชื้อในโรงพยาบาล

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2020-02-24

How to Cite

ฉบับ

บท

นิพนธ์ต้นฉบับ