การศึกษาขั้นต้นการทำเอเอฟบีสเมียร์ การเพาะเชื้อวัณโรค และการทดสอบความไวต่อยาต้านวัณโรคของตัวอย่างเสมหะที่เตรียมด้วยวิธี Hypertonic saline-sodium hydroxide

ผู้แต่ง

  • ดวงเนตร พิพัฒน์สถิตพงศ์

คำสำคัญ:

Hypertonic saline-sodium hydroxide, การทดสอบความไวต่อยา, วัณโรคดื้อยาหลายขนาน

บทคัดย่อ

การวินิจฉัยและการทดสอบความไวต่อยาต้านวัณโรคมีความจำเป็นต่อการรักษาผู้ป่วย การเตรียมตัวอย่างเสมหะเข้มข้นมีความสำคัญในการทำเอเอฟบีสเมียร์ (AFB smear) การเพาะเชื้อ และการทดสอบความไวต่อยาต้านวัณโรคทั้งวิธีจีโนไทป์และวิธีฟีโนไทป์ โดยวิธี hypertonic saline-sodium hydroxide (HS-SH) เป็นวิธีที่พัฒนาขึ้นสำหรับการเตรียมตัวอย่างสเมียร์เสมหะเข้มข้นและการเพาะเชื้อ แต่ยังไม่มีการนำไปใช้ในการเตรียมตัวอย่างทดสอบความไวต่อยาต้านวัณโรคด้วยวิธีจีโนไทป์ งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการทำ เอเอฟบีสเมียร์ การเพาะเชื้อ และการทดสอบความไวต่อยาต้านวัณโรคด้วยวิธีจีโนไทป์ line probe assay (LPA) และวิธีฟีโนไทป์ BACTEC MGIT 960 System ของตัวอย่างเสมหะที่เตรียมด้วยวิธี HS-SH โดยเสมหะ 227 ตัวอย่าง ถูกแบ่งเป็นสองส่วนเท่ากันและผ่านการเตรียมตัวอย่างเสมหะด้วยวิธี HS-SH และวิธี N-acetyl-L-cysteine-sodium hydroxide (NALC-NaOH) เพื่อทำ เอเอฟบีสเมียร์ เพาะเชื้อ และทดสอบความไวต่อยาต้านวัณโรค ผลการศึกษาพบว่าการทำ เอเอฟบีสเมียร์ ให้ผลตรงกันร้อยละ 100 (Kappa=1.00) และการเพาะเชื้อให้ผลตรงกันร้อยละ 94.3 (Kappa=0.76) ผลการทดสอบความไวต่อยาต้านวัณโรคทั้งวิธี LPA และ BACTEC MGIT 960 System พบว่าตัวอย่างส่วนใหญ่ให้ผลไวต่อยาร้อยละ 82.9 และ 75.0 ตามลำดับ โดยพบวัณโรคดื้อยาหลายขนาน (multidrug-resistant tuberculosis: MDR-TB) ร้อยละ 7.9 และ 5.7 ตามลำดับ สำหรับตัวอย่างที่ทดสอบด้วยวิธีทั้งสองร่วมกันพบว่าผลการทดสอบความไวต่อยาต้านวัณโรค isoniazid (INH), rifampicin (RMP) และการตรวจหาวัณโรคดื้อยาหลายขนานมีความสอดคล้องกันในระดับดีเยี่ยม (excellent) โดยค่า % agreement เท่ากับ 95.1, 97.6 และ 97.6 ตามลำดับ Kappa=0.88, 0.91 และ 0.91 ตามลำดับ  การศึกษาขั้นต้นนี้แสดงให้เห็นว่าวิธี HS-SH สามารถใช้เตรียมตัวอย่างเสมหะสำหรับการทำ เอเอฟบีสเมียร์ การเพาะเชื้อ และการทดสอบความไวต่อยาต้านวัณโรคโดยตรงด้วยวิธี LPA และวิธี BACTEC MGIT 960 System ได้

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2020-02-24

How to Cite

ฉบับ

บท

นิพนธ์ต้นฉบับ