การทวนสอบและการรายงานผลการวิเคราะห์โดยอัตโนมัติทางห้องปฏิบัติการเคมีคลินิก

ผู้แต่ง

  • พรเพ็ญ ศรีสวัสดิ์

คำสำคัญ:

การรายงานผลการวิเคราะห์โดยวิธีอัตโนมัติ, กระบวนการภายหลังการวิเคราะห์, ผลการทดสอบทางห้องปฏิบัติการ, ขั้นตอนวิธีการ, ระยะเวลาการรอคอย

บทคัดย่อ

แพทย์ต้องการผลการทดสอบทางห้องปฏิบัติการที่ถูกต้อง  และรวดเร็ว   แต่ขั้นตอนการรายงานผลส่งผลต่อระยะเวลาการรอคอย  เนื่องจากต้องตรวจสอบความถูกต้องและยืนยันผลทุกรายการทดสอบ   อีกทั้งเกิดข้อผิดพลาดได้ง่าย   การศึกษานี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อประยุกต์ระบบการรายงานผลการวิเคราะห์โดยวิธีอัตโนมัติ (autoverification) สำหรับห้องปฏิบัติการเคมีคลินิก โดยห้องปฏิบัติการพยาธิวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้จัดทำระบบ autoverification สำหรับ 35 รายการทดสอบ   วิธีการออกแบบขั้นตอนปรับปรุงตามแนวทางปฏิบัติของ  CLSI: Autoverification of Clinical Laboratory Test Results  ข้อกำหนดและกฎเกณฑ์สำหรับตรวจสอบผลการวิเคราะห์ด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์พัฒนาที่ Middleware (Abbott Laboratories) ประกอบด้วย 3 ส่วนหลักคือ เทียบค่าพิกัดตรวจสอบ (limit check)  เทียบค่าผลครั้งก่อนหน้า (delta check) และตรวจสอบความถูกต้องร่วมกับข้อมูลอื่น (consistence check)  หากผลการทดสอบใดไม่อยู่ในเกณฑ์กำหนด ระบบจะเก็บผลไว้ให้ผู้ปฏิบัติการตรวจสอบ   ผลการศึกษาพบว่าผลการตรวจสอบด้วยระบบ autoverification สามารถรายงานผลสู่ผู้รับบริการโดยตรงได้ถึงร้อยละ 84.5   ลดระยะเวลาการรอคอยในขั้นตอนการรายงานผลจากเดิมเฉลี่ยต่อรายที่ 9 นาที เหลือเพียง 4 นาที   นอกจากนี้ยังเพิ่มการตรวจจับความผิดพลาดจากการเก็บตัวอย่างสิ่งส่งตรวจ  โดยข้อมูลการปฏิเสธสิ่งส่งตรวจที่รวบรวมได้ในระยะเวลา  1 ปี มีจำนวน 770  ราย  เกิดจากสิ่งส่งตรวจมีความผิดปกติ (เม็ดเลือดแดงแตก เหลืองผิดปกติ หรือขุ่นมีไขมัน) 592 ราย  ปนเปื้อนจากสารกันเลือดแข็งและสารน้ำที่ให้ทางหลอดเลือด 132 ราย และเก็บตัวอย่างผู้ป่วยสลับคน 46 ราย   จากการศึกษานี้สรุปได้ว่าระบบ autoverification สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้จริง  ประโยชน์ที่ได้คือลดระยะเวลาการรอคอย  เพิ่มความถูกต้องของผลการทดสอบจากการลดความผิดพลาดของผู้ปฏิบัติงานที่อาจตรวจสอบไม่ครบถ้วน  เพิ่มประสิทธิภาพของผู้ปฏิบัติงานโดยให้ตรวจสอบผลเฉพาะรายที่จำเป็นต้องประเมินและ/หรือแก้ไขผลให้มีความถูกต้อง  และเพิ่มการตรวจจับสิ่งส่งตรวจที่เกิดข้อผิดพลาดจากการเก็บตัวอย่าง

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2019-10-17

How to Cite

ฉบับ

บท

นิพนธ์ต้นฉบับ