ระยะทางการเคลื่อนที่ของนิวโทรฟิล
คำสำคัญ:
นิวโทรฟิล การจับกินสิ่งแปลกปลอม สารกระตุ้นการเคลื่อนที่ การเคลื่อนที่ ค่าอ้างอิงบทคัดย่อ
นิวโทรฟิลเป็นเซลล์เม็ดเลือดขาวที่พบมากที่สุดในกระแสโลหิต เป็นเซลล์ชนิดแรกที่ออกจากกระแสโลหิตไปยังบริเวณที่มีการติดเชื้อหรือได้รับการอักเสบ มีบทบาทสำคัญในการจับกินสิ่งแปลกปลอม (phagocytosis) โดยจะมีสารกระตุ้นการเคลื่อนที่ (chemoattractant) ซึ่งปล่อยออกมาจากเซลล์ในบริเวณที่มีการติดเชื้อและทำให้นิวโทรฟิลสามารถเคลื่อนที่ไปสู่บริเวณนั้น (chemotaxis) หากมีความผิดปกติของสาร chemotaxis จะทำให้ลดประสิทธิภาพการทำงานของนิวโทรฟิลในการจับกินสิ่งแปลกปลอม และส่งผลให้ร่างกายมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อจุลชีพ ซึ่งคณะผู้วิจัยมีแนวคิดที่จะศึกษาการเคลื่อนที่ของนิวโทรฟิล โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อหาค่าอ้างอิงของระยะทางการเคลื่อนที่ของนิวโทรฟิลเมื่อกระตุ้นด้วยสาร N-formylmethionine-leucyl-phenylalanine (fMLP) โดยดำเนินการเก็บตัวอย่างเลือดครบส่วนของนิสิตสาขาเทคนิคการแพทย์ คณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร อายุ 20 - 25 ปี ที่ไม่มีภาวะการอักเสบหรือการติดเชื้อ จำนวน 20 คน ซึ่งแยกเม็ดเลือดขาวชนิดนิวโทรฟิล ด้วยหลักการ density gradient centrifugation โดยใช้น้ำยา PolymorphprepTM และนำนิวโทรฟิลที่ผ่านการแยกมาทดสอบการเคลื่อนที่ของนิวโทรฟิลโดยใช้หลักการ neutrophil chemotaxis under agarose assay เป็นการศึกษาการเคลื่อนที่แบบ chemotaxis ของนิวโทรฟิลใน agarose gel โดยเลือกใช้สาร fMLP ซึ่งเป็นสารกระตุ้นการเคลื่อนที่ และใช้สาร dimethyl sulfoxide (DMSO) เป็นสารควบคุมลบ จากนั้นวัดค่าระยะทางการเคลื่อนที่ของนิวโทรฟิล เพื่อคำนวณค่าอ้างอิงของระยะทางการเคลื่อนที่ของนิวโทรฟิล พบว่าค่าอ้างอิงของระยะทางการเคลื่อนที่ของนิวโทรฟิล มากกว่าหรือเท่ากับ 1,134 ไมโครเมตร (95% CI) โดยผลการคำนวณค่าอ้างอิงนี้มีประโยชน์ในการใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับศึกษาการเคลื่อนที่ของนิวโทรฟิล (neutrophil chemotaxis) และใช้เป็นค่าอ้างอิงเพื่อช่วยในการวินิจฉัยภาวะความผิดปกติของการเคลื่อนที่ของนิวโทรฟิลในผู้ป่วยกลุ่ม neutrophil chemotactic defect เช่น leukocyte adhesion deficiency (LAD), Chediak-Higashi syndrome, hyper–IgE (Job) syndrome เป็นต้น