เทคนิค Xpert MTB/RIF ในการวินิจฉัยกลุ่มผู้ป่วยที่น่าจะเป็นวัณโรคในโรงพยาบาลตากสิน

ผู้แต่ง

  • หัทยา ธัญจรูญ งานจุลชีววิทยา กลุ่มงานเทคนิคการแพทย์ โรงพยาบาลตากสิน

คำสำคัญ:

Xpert MTB/RIF, AFB smear, การเพาะเลี้ยงเชื้อวัณโรคและการทดสอบความไวต่อยาของเชื้อ, ผู้ที่น่าจะเป็นวัณโรค

บทคัดย่อ

วัณโรค (tuberculosis; TB) และวัณโรคดื้อยาหลายขนาน (multidrug resistant-tuberculosis; MDR-TB) เป็นปัญหาสำคัญของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทย  วิธี Xpert MTB/RIF เป็นเทคนิคที่ได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลกสำหรับการตรวจวินิจฉัยในระดับอณูชีววิทยาของวัณโรคและการดื้อต่อยาไรแฟมพิซิน งานวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพในการค้นหาเชื้อวัณโรคโดยวิธี Xpert MTB/RIF และวิธี AFB smear microscopy (Ziehl-Neelsen; ZN)  โดยเปรียบเทียบกับวิธีมาตรฐานการเพาะเลี้ยงเชื้อวัณโรคและการทดสอบความไวต่อยาของเชื้อ (TB culture and drug susceptibility testing, TB C&DST) โดยการศึกษาย้อนหลังในผู้ป่วยที่น่าจะเป็นวัณโรคจากอาการหรือผลเอ็กซเรย์ของโรงพยาบาลตากสิน ปี พ.ศ.2559 จำนวน 1,003 ตัวอย่าง เป็นเพศชาย 629 ตัวอย่าง และเพศหญิง 374 ตัวอย่าง โดยตัวอย่างถูกส่งตรวจหาเชื้อวัณโรคด้วยวิธี Xpert MTB/RIF  วิธี AFB smear  และวิธี TB C&DST ผลการศึกษาพบว่า ความชุกของวัณโรคด้วยวิธี Xpert MTB/RIF เท่ากับ  ร้อยละ 25.8 (259 ตัวอย่าง) ซึ่งมากกว่าผลจากวิธี  AFB smear (ร้อยละ 20.9, 210 ตัวอย่าง) โดยพบเป็นวัณโรคในเพศชายถึงร้อยละ 71.4 (185 ตัวอย่าง) ช่วงอายุที่พบวัณโรคมากที่สุด คือ 18-40 ปี (ร้อยละ 41.3) และกลุ่มเสี่ยงที่พบความชุกของวัณโรคมากที่สุดคือผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีโรคเรื้อรัง (ร้อยละ 21.6)  รองลงมาคือผู้ติดเชื้อเอชไอวี (ร้อยละ 13.9) และผู้ป่วยเบาหวาน (ร้อยละ 11.6)  โดยกลุ่มผู้ติดเชื้อเอชไอวีตรวจพบวัณโรคดื้อต่อยาไรแฟมพิซินและ MDR-TB มากที่สุด สำหรับประสิทธิภาพการตรวจหาเชื้อวัณโรคของวิธี Xpert MTB/RIF พบว่า มีค่าความไว ความจำเพาะ การทำนายผลบวก การทำนายผลลบ และค่าความถูกต้อง เท่ากับร้อยละ 97.4, 89.2, 90.5, 97.1 และ 93.4 ตามลำดับ การตรวจหาวัณโรคดื้อต่อยาไรแฟมพิซิน เท่ากับร้อยละ 85.7, 98.2, 80.0, 98.8 และ 97.2 ตามลำดับ และประเมินการใช้วิธี Xpert MTB/RIF กรณีที่ AFB smear ผลเป็นลบ เท่ากับร้อยละ 84.9, 92.7, 70.0, 96.8 และ 91.4 ตามลำดับ สำหรับวิธี AFB smear พบว่า มีค่าความไว ความจำเพาะ การทำนายผลบวก การทำนายผลลบ และค่าความถูกต้อง เพียงร้อยละ 83.1, 88.7, 88.5, 83.3 และ 85.8 ตามลำดับ จึงตรวจพบวัณโรคได้น้อยกว่าวิธี Xpert MTB/RIF อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < 0.05, χ2 test)  ผลจากการศึกษานี้แสดงให้เห็นว่า  วิธี Xpert MTB/RIF  เป็นวิธีที่ทำได้ง่าย ให้ผลรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพสูงในการตรวจหาเชื้อวัณโรคและวัณโรคดื้อต่อยาไรแฟมพิซิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีที่ AFB smear ผลเป็นลบ ทำให้วิธี Xpert MTB/RIF เป็นวิธีที่เหมาะสมสำหรับนำมาใช้ในการวินิจฉัยวัณโรค

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2019-06-28

How to Cite

ฉบับ

บท

นิพนธ์ต้นฉบับ