บรรณาธิการแถลง

ผู้แต่ง

  • อธิบ ตันอารีย์, พ.บ., ปร.ด.

คำสำคัญ:

บรรณาธิการแถลง

บทคัดย่อ

วารสารสุขภาพจิตแห่งประเทศเล่มที่ 4 ของปี พ.ศ. 2564 (ปีที่ 29) ตุลาคม - ธันวาคม ยังคงเนื้อหาสาระทางวิชาการด้านสุขภาพจิตและจิตเวชศาสตร์อย่างเข้มข้น โดยเป็นบทความประเภทนิพนธ์ต้นฉบับ 7 เรื่องและรายงานผู้ป่วย 1 เรื่อง ครอบคลุมหลากหลายประเด็นและกลุ่มวัย

ประเด็นกลุ่มวัยเด็กและวัยรุ่น ผลกระทบด้านสุขภาพจิตของเด็กและวัยรุ่นจากเหตุการณ์รุนแรงเรื่อง ปัญหาสุขภาพจิตนักเรียนหลังเหตุการณ์ยิงกันในโรงเรียน โดย วรรณพักตร์ วิวัฒนวงศา และจากการปรับตัวในระหว่างสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 เรื่อง ความเครียดระหว่างการเรียนออนไลน์ในช่วงการระบาดของโรคโควิด 19 ของนักศึกษาแพทย์มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดย  พรนภา พัฒนวิทยากุล และคณะ และเรื่อง ความชุกและปัจจัยเสี่ยงต่อพฤติกรรมทำร้ายตนเองแบบไม่เจตนาให้เสียชีวิตในกลุ่มนักศึกษาพยาบาล ในรอบ 12 เดือน โดย ชมพูนุท กาบคำบา และคณะ มีประโยชน์ในการวางแนวทางการเฝ้าระวังคัดกรอง รวมถึงการดูแลเยียวยาจิตใจเด็กและวัยรุ่นทั้งในระยะเร่งด่วนและระยะยาว

แนวคิดเรื่องสติบำบัดได้รับความสนใจมากขึ้นในปัจจุบันและได้รับการประยุกต์ใช้เพื่อการส่งเสริมพฤติกรรมทางบวกในสถานที่ทำงาน ดังเช่นเรื่อง  ความสัมพันธ์ระหว่างการฝึกสติและสติสนทนาในองค์กรกับระดับสติ ความสามารถในการสื่อสาร และการทำงานเป็นทีม โดย ภาวิณี เพชรสว่าง และ สมิตรา พรวัฒนเวทย์ และเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาโรคซึมเศร้า ดังเช่นเรื่อง ผลของโปรแกรมสติบำบัดต่อภาวะซึมเศร้าและคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า โดย วิภาวี เผ่ากันทรากร และ นภา จิรัฐจินตนา สำหรับประเด็นระบบบริการสุขภาพจิต บทความเรื่อง การเข้าถึงบริการและความพร้อมการจัดบริการสำหรับผู้มีปัญหาการดื่มสุราของระบบบริการสาธารณสุข โดย บุญศิริ จันศิริมงคล และคณะ ศึกษาสถานการณ์หลังการขับเคลื่อนนโยบายการดูแลผู้มีปัญหาการดื่มสุราในระบบบริการสาธารณสุขทั่วประเทศ และ เรื่อง การพัฒนาและทดสอบประสิทธิผลของโปรแกรมอบรมออนไลน์โดยอิงแนวปฏิบัติโรคซึมเศร้าในวัยรุ่น สำหรับแพทย์ในเขตสุขภาพที่ 10 โดย วิรีย์อร จูมพระบุตร และคณะ มีประโยชน์ในการดูแลรักษาวัยรุ่นที่เป็นโรคซึมเศร้าที่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน

รายงานผู้ป่วย เรื่อง ภาวะเต้านมโตในผู้ชายที่เกิดจากยา sertraline ในผู้สูงอายุ : รายงานผู้ป่วย 1 ราย โดย ศิริรัตน์ คุปติวุฒิ และ นที วีรวรรณ ซึ่งแม้เป็นอาการข้างเคียงจากยารักษาโรคซึมเศร้าที่พบได้น้อยและไม่รุนแรง แต่มีผลต่อสุขภาพจิตของผู้ป่วยและบุคลากรสาธารณสุขควรทราบเพื่อให้การวินิจฉัยและการดูแลที่เหมาะสม

ผมและกองบรรณาธิการขอขอบคุณผู้นิพนธ์ทุกท่านที่เชื่อมั่นและไว้วางใจส่งบทความเข้ามายังวารสาร ทั้งนี้ ขอเชิญชวนทุกท่านอ่านบทความทางวารสารออนไลน์ www.tci-thaijo.org/index.php/jmht และยังสามารถส่งบทความเพื่อเข้ารับการพิจารณาเผยแพร่ทางเว็บไซต์ดังกล่าวด้วย

Downloads

Download data is not yet available.

Additional Files

เผยแพร่แล้ว

2021-12-15