บรรณาธิการแถลง

ผู้แต่ง

  • อธิบ ตันอารีย์, พ.บ., ปร.ด.

คำสำคัญ:

บรรณาธิการแถลง

บทคัดย่อ

วารสารสุขภาพจิตแห่งประเทศไทย เล่มที่ 3 ของปี พ.ศ. 2564 (ปีที่ 29) เดือนกรกฎาคม – กันยายน ฉบับนี้ มีการปรับกองบรรณาธิการใหม่ตามวาระ แต่ยังคงมีเป้าประสงค์ กรอบแนวคิด และข้อกำหนดของวารสารดังเดิม เพื่อเป็นช่องทางสำหรับเผยแพร่ผลงานวิจัยและผลงานวิชาการของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขในด้านสุขภาพจิตและจิตเวชศาสตร์ และเป็นสื่อกลางเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนความรู้ด้านสุขภาพจิต และยังเน้นคุณภาพตามเกณฑ์การประเมินคุณภาพวารสารของศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย Thai-journal Citation Index (TCI) ในกลุ่มที่ 1 (Tier 1)

วารสารฉบับนี้ประกอบด้วยนิพนธ์ต้นฉบับจำนวน 6 เรื่องและปกิณกะ 1 เรื่อง มีนิพนธ์ต้นฉบับที่ศึกษาประเด็นโรคโควิด 19 เรื่อง Mental health during COVID-19 pandemic among young medical graduates from Prince of Songkla University in Thailand โดย Jarurin Pitanupong และ Paratthakorn Tantivachiratakul ซึ่งเป็นนิพนธ์ต้นฉบับภาษาอังกฤษที่นำเสนอระดับสุขภาพจิตและความกังวลของแพทย์จบใหม่ ในการปฏิบัติงานระหว่างการแพร่ระบาดของของโรคโควิด 19 นอกจากนี้ยังมีนิพนธ์ต้นฉบับที่ศึกษาประเด็นเฉพาะที่น่าสนใจ ได้แก่ ประเด็นในกลุ่มวัยสูงอายุเรื่อง ผลของโปรแกรมการสร้างเสริมการรู้คิดในกลุ่มผู้สูงอายุที่มีการรู้คิดพร่องเล็กน้อย โดย สุนทรี โอรัตนสถาพร และคณะ ประเด็นความรุนแรงต่อสตรีเรื่อง ความสัมพันธ์ระหว่างผลกระทบจากเหตุการณ์รุนแรงในวัยเด็กของมารดาและวิธีการในการเลี้ยงดูลูก โดย วชิราภรณ์ อรุโณทอง ซึ่งเป็นประโยชน์ในการป้องกันการถ่ายทอดความรุนแรงจากรุ่นสู่รุ่น ประเด็นโรคซึมเศร้าเรื่อง คุณภาพชีวิตด้านการใช้ยาในผู้ป่วยนอกโรคซึมเศร้าชาวไทย โดย พรรณทิพา ศักดิ์ทอง และ รวิกานต์ ระลึกฤาเดช ที่ศึกษาความต้องการและคุณภาพชีวิตในมิติต่าง ๆ ของผู้ที่กำลังใช้ยารักษาโรคซึมเศร้ารวมทั้งปัจจัยที่เกี่ยวข้อง เพื่อการจัดบริการที่ส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยกลุ่มนี้ ส่วนในกลุ่มวัยเด็กนั้น มีนิพนธ์ต้นฉบับ 2 เรื่องที่ศึกษาประเด็นกลุ่มอาการภาวะออทิสซึม เป็นประโยชน์ในวางแนวทางคัดกรอง วินิจฉัย และป้องกันภาวะแทรกซ้อนในเด็กกลุ่มนี้ที่เหมาะสมกับบริบทไทย ได้แก่ เรื่อง การเปรียบเทียบทักษะการเคลื่อนไหวระหว่างเด็กออทิสติกและเด็กทั่วไป โดย นติยากร ชนเก่าน้อย และคณะ และเรื่อง ภาวะออทิสซึมในเด็กปฐมวัยที่สงสัยพัฒนาการไม่สมวัยหรือออทิสซึม : การศึกษานำร่องในจังหวัดเชียงใหม่ โดย สมัย ศิริทองถาวร และ ดวงกมล ตั้งวิริยะไพบูลย์ สำหรับบทความปกิณกะเรื่อง ผลกระทบของเพศภาวะต่อสุขภาพจิตและแนวคิดเพศภาวะกำหนดนโยบายสุขภาพจิต โดย สมพร รุ่งเรืองกลกิจ และ พันธุ์นภา กิตติรัตนไพบูลย์ ได้รวบรวมบทความเกี่ยวกับความแตกต่างของเพศภาวะกับปัญหาสุขภาพจิตจากทั้งประเทศไทยและต่างประเทศ มีประโยชน์ในการจัดบริการสุขภาพจิตที่คำนึงถึงความหลากหลายทางเพศภาวะ

ผมและกองบรรณาธิการขอขอบคุณผู้นิพนธ์ทุกท่านที่เชื่อมั่นและไว้วางใจส่งบทความเข้ามายังวารสาร ทั้งนี้ ขอเชิญชวนทุกท่านอ่านบทความทางวารสารออนไลน์ www.tci-thaijo.org/index.php/jmht และยังสามารถส่งบทความเพื่อเข้ารับการพิจารณาเผยแพร่ทางเว็บไซต์ดังกล่าวด้วย ในโอกาสนี้ ผมขอขอบพระคุณผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกท่านที่มอบโอกาสให้ผมเข้ามาดำรงตำแหน่งบรรณาธิการเป็นครั้งแรกในวารสารฉบับนี้ และขอให้ความมั่นใจกับผู้อ่านทุกท่านถึงการคงคุณภาพวารสาร เพื่อเป็นสื่อในการเผยแพร่ผลงานทางวิชาการที่มีประโยชน์ต่องานด้านสุขภาพจิตและจิตเวชศาสตร์ของประเทศไทยต่อไป

 

อธิบ ตันอารีย์

บรรณาธิการ

Downloads

Download data is not yet available.

Additional Files

เผยแพร่แล้ว

2021-09-10