บรรณาธิการแถลง
คำสำคัญ:
บรรณาธิการแถลงบทคัดย่อ
สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคนา 2019 ยังคงเป็นปัญหาต่อเนื่องทั่วโลก ในประเทศไทยมีการระบาดเป็นระลอกที่สามและมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม นอกจากการปรับตัวสู่วิถีชีวิตใหม่ที่ต้องป้องกันสุขอนามัยอย่างเข้มข้นแล้ว วัคซีนโควิด 19 เป็นอีกวิธีการหนึ่งที่สำคัญ ผู้ได้รับวัคซีนทั้งประเทศในขณะนี้เพิ่มเป็นหลายล้านคนแล้ว คาดว่าจะบรรเทาความรุนแรงของโรคโควิด 19 ได้ในไม่ช้า
วารสารสุขภาพจิตแห่งประเทศไทย เล่มที่ 2 ของปี พ.ศ. 2564 (ปีที่ 29) เดือนเมษายน - มิถุนายน ยังคงเนื้อหาสาระทางวิชาการด้านสุขภาพจิตและจิตเวชศาสตร์ที่หลากหลายประเด็น ดังเช่น รายงานนิพนธ์ต้นฉบับล่าสุดถึงผลกระทบด้านสุขภาพจิตในผู้ป่วยโรคโควิด 19 ในการศึกษาเรื่อง ความชุกของการรับรู้ความเครียด ภาวะซึมเศร้า และปัจจัยที่เกี่ยวข้องในผู้ป่วยโรคโควิด 19 เขตกรุงเทพมหานคร โดย วรินทิพย์ สว่างศรี และคณะ ที่ศึกษาจากข้อมูลในโครงการการดูแลจิตใจทางโทรศัพท์แก่ผู้ป่วยติดเชื้อโควิด 19 ในเขตกรุงเทพมหานคร ส่วนในประเด็นเด็กและวัยรุ่นนั้น มีรายงานนิพนธ์ต้นฉบับภาวะติดเกมในกลุ่มเฉพาะเรื่อง ความชุก ปัจจัยที่เกี่ยวข้อง และการสูญเสียหน้าที่ของภาวะติดเกมในเด็กและวัยรุ่นที่เป็นโรคสมาธิสั้น โดย ดุษเดือน ตั้งอารีอรุณ และคณะ ที่ทำให้ทราบความรุนแรงของปัญหาโรคร่วมนี้ในบริบทเฉพาะของเด็กไทย
นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาประเด็นยาจิตเวชสองเรื่อง เรื่องแรกเป็นนิพนธ์ต้นฉบับเรื่อง ประสิทธิผลและอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาสามัญ risperidone solution กับยาต้นตำรับในการรักษาผู้ป่วย autism spectrum disorder โดย จินตนา ปรัชญาสันติ และคณะ และเรื่องที่สองเป็นบทความปริทัศน์เรื่อง การเปรียบเทียบประสิทธิภาพและความปลอดภัยระหว่างการให้ยารักษาโรคจิตวันละครั้ง และวันละหลายครั้งในผู้ป่วยโรคจิตเภท : การทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบ โดย อนุสรา เครือนวล และคณะ ซึ่งทั้งสองเรื่องเป็นประโยชน์อย่างมากในการตัดสินใจสั่งจ่ายยาให้ผู้ป่วยจิตเวช
สำหรับปัญหาสุขภาพจิตที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม มีสองรายงานการศึกษาคือ นิพนธ์ต้นฉบับเรื่อง ประสิทธิผลของดนตรีบำบัดร่วมกับโปรแกรมการฟื้นฟูสมรรถภาพในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง โดย สายฝน ทศภาทินรัตน์ และคณะ และบทความปริทัศน์เรื่อง แนวปฏิบัติทางคลินิกสำหรับการจัดการภาวะวิตกกังวลและภาวะซึมเศร้าในผู้ป่วย โรคหลอดเลือดสมอง : การทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบ โดย วีรนันท์ แย้มรัตนกุล และ เอมอร จิระพันธุ์
ประเด็นการเจริญสติ (mindfulness) ที่ได้รับความสนใจอย่างมากในระยะหลังทั้งในและต่างประเทศ งานวิจัยที่น่าสนใจสองเรื่องคือ ผลของกลุ่มบำบัดด้วยการแก้ไขปัญหาร่วมกับการเจริญสติต่อภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุที่มีโรคเรื้อรังในชุมชน โดย เกษร สายธนู และคณะ และรายงานการพัฒนาเครื่องมือเรื่อง การศึกษาคุณสมบัติของแบบประเมินความฉลาดทางสติสัมปชัญญะไทย โดย รุจินันท เหล่านิยมไทย และคณะ ที่นำเครื่องมือที่ได้รับการยอมรับเป็นสากลมาใช้กับคนไทย ซึ่งจะเป็นทางเลือกหนึ่งในการประเมินบุคคลหรือการประเมินทางคลินิกในด้านสติและสัมปชัญญะ
ดิฉันและกองบรรณาธิการขอขอบคุณผู้นิพนธ์ทุกท่านที่เชื่อมั่นและไว้วางใจส่งบทความเข้ามายังวารสาร ทั้งนี้ ขอเชิญชวนทุกท่านอ่านบทความทางวารสารออนไลน์ www.tci-thaijo.org/index.php/jmht และยังสามารถส่งบทความเพื่อเข้ารับการพิจารณาเผยแพร่ทางเว็บไซต์ดังกล่าวด้วย ในโอกาสนี้ ดิฉันขออำลาบทบาทบรรณาธิการวารสาร และขอขอบคุณกองบรรณาธิการทุกท่านที่ร่วมมือการทำงานอย่างหนักมาตลอดสามปีครึ่ง ทั้งนี้เพื่อเปิดโอกาสให้นักวิชาการรุ่นใหม่ของกรมสุขภาพจิตได้มาร่วมพัฒนาวารสารสุขภาพจิตแห่งประเทศไทยให้ก้าวหน้ามากขึ้น ซึ่งดิฉันยินดีร่วมทำงานในฐานะบรรณาธิการกิตติมศักดิ์ และขอให้ความมั่นใจกับผู้อ่านทุกท่านถึงการคงคุณภาพวารสารอย่างต่อเนื่อง
พันธุ์นภา กิตติรัตนไพบูลย์
บรรณาธิการ
Downloads
Additional Files
เผยแพร่แล้ว
How to Cite
ฉบับ
บท
License
- ผู้อ่านสามารถนำข้อความ ข้อมูล จากวารสารไปใช้ไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการได้ เช่น เพื่อการสอน เพื่อการอ้างอิง แต่การนำไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่น เช่น เพื่อการค้า จะต้องได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจากกรมสุขภาพจิตก่อน
- ความคิดเห็น ข้อมูล และบทสรุปต่าง ๆ ที่ลงตีพิมพ์ในวารสารสุขภาพจิตแห่งประเทศไทยเป็นของผู้เขียนบทความและมิได้แสดงว่ากองบรรณาธิการหรือกรมสุขภาพจิตเห็นพ้องด้วย