การพัฒนารูปแบบการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุที่มีภาวะข้อเข่าเสื่อมโดยชุมชนมีส่วนร่วม โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลโนนสะอาด อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น

ผู้แต่ง

  • สมลักษณ์ หนูจันทร์ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลโนนสะอาด อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น

คำสำคัญ:

ผู้สูงอายุ, ภาวะข้อเข่าเสื่อม, การมีส่วนร่วมของชุมชน

บทคัดย่อ

การวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาบริบทและสภาพปัญหาการดูแลสุขภาพ  พัฒนาและศึกษาผลการใช้รูปแบบการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุที่มีภาวะข้อเข่าเสื่อมโดยชุมชนมีส่วนร่วม เขตรับผิดชอบของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลโนนสะอาด อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น  ผู้ร่วมวิจัยประกอบด้วย 1) ผู้สูงอายุสำหรับศึกษาสภาพปัญหา จำนวน 490 คน  2) กลุ่มผู้ร่วมพัฒนา ประกอบด้วย ผู้นำชุมชน สมาชิกสภาเทศบาล (สท.) ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) รวม 24 คน  3) กลุ่มเป้าหมายหลัก คือ ผู้สูงอายุที่มีภาวะข้อเข่าเสื่อม 33 คน และผู้ดูแล 33 คน รวมทั้งสิ้น 90 คน การพัฒนารูปแบบการดูแลฯ โดยใช้กระบวนการ PAOR ตามแนวคิดของ Kemmis and Mctaggart (1988) จำนวน  2 วงรอบ ได้แก่ วงรอบที่ 1 ดำเนินการระหว่างเดือน มกราคม 2560 – มิถุนายน 2560 วงรอบที่ 2 ดำเนินการระหว่างเดือน กรกฎาคม 2560 ถึง  มีนาคม 2561 วิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณ  โดยการแจกแจงความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ส่วนข้อมูลเปรียบเทียบอาการปวดเข่า ใช้สถิติ Paired t-test และวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพโดยการวิเคราะห์เชิงเนื้อหา

ผลการศึกษาพบว่า การพัฒนาได้รูปแบบการดูแลฯ คือ  LUCKY model (L: Learning ,U: Unity ,C= Care, K= Keep in touch and Y= Yardstick)  โดย L: Learning  คือการส่งเสริมการเรียนรู้ร่วมกันของชุมชนและทีมวิจัย U: Unity คือการทำงานร่วมกันเป็นทีม C= Care คือมีการติดตามดูแลสังเกตการณ์ ออกเยี่ยมบ้านผู้สูงอายุ และผู้ดูแลเยี่ยมเสริมพลังให้กำลังใจอย่างต่อเนื่อง K: Keep in touch คือการสะท้อนผลการดำเนินงาน  กระตุ้นการปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง และ Y: Yardstick คือการปรับปรุงพัฒนาให้ได้รูปแบบที่เป็นมาตรฐาน   ผลจากการใช้รูปแบบที่พัฒนาขึ้นคือ ผู้สูงอายุมีอาการปวดเข่าลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05  โดยก่อนดำเนินการอาการปวดเข่าของผู้สูงอายุที่มีภาวะข้อเข่าเสื่อมมีคะแนนของอาการปวดเข่าสูงสุดคือ 10 คะแนน และต่ำสุดคือ 4 คะแนน โดยมีคะแนนเฉลี่ยคือ 7.12 คะแนน (S.D.=2.28) และหลังดำเนินการมีคะแนนสูงสุดคือ 4 คะแนนและคะแนนต่ำสุด 0 คะแนน โดยมีคะแนนเฉลี่ยคือ 1.27 คะแนน (S.D.= 0.97) [คะแนนอาการปวดลดลง 5.85 คะแนน (95%CI:  1.07 ถึง 1.71 คะแนน; p-value < 0.001)] ผู้สูงอายุมีความพึงพอใจต่อกิจกรรมอยู่ในระดับสูง ร้อยละ 95.5 และการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดกิจกรรมอยู่ในระดับสูง ร้อยละ 86.4  ดังนั้น ควรส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนในการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ รวมทั้งสนับสนุนการใช้สมุนไพรพื้นบ้านในการลดอาการปวดเข่าอันจะส่งผลให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป

References

เอกชัย เพียรศรีวัชรา. ผลการสำรวจสภาวะสุขภาพผู้สูงอายุไทย ระบบดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงบทบาทรัฐ เอกชน ท้องถิ่น ชุมชน, กระทรวงสาธารณสุข. 2557.

วิชาญ เกิดวิชัย,การดูแลสุขภาพผู้สูงอายุปวดเข่า(เข่าเสื่อม จับโปงเข่า) ด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทย. 2559.

โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลโนนสะอาด. ทะเบียนคัดกรองโรคข้อเข่าเสื่อมในผู้สูงอายุ ปี 2560

Kemmis,S. Action research in prospect and retrospect. In S. Kemmis, C. Henry, C. Hook, & R. McTaggart (Eds.),The action research reader (pp.11–31).Geelong, Australia: Deakin University Press.1988

รัตนาวลี ภักดีสมัย, พนิษฐา พานิชาชีวะกุล, การพัฒนาการดูแลผู้สูงอายุที่มีปัญหาปวดข้อเข่าของ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านบาก อำเภอจังหาร จังหวัดร้อยเอ็ด. 2554.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

11-11-2019