จริยธรรมการตีพิมพ์

จริยธรรมการตีพิมพ์

จริยธรรมในการตีพิมพ์ผลงานในวารสารวิชาการ (Publication Ethics)

สำหรับราชาวดีสาร วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี สุรินทร์

ราชาวดีสาร วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี สุรินทร์ (Journal of Boromrajonani College of Nursing, Surin) กำหนดระเบียบด้านจริยธรรมในการตีพิมพ์ผลงานในวารสารวิชาการ (Publication Ethics) ประกอบด้วย บทบาทและหน้าที่ของผู้เขียนบทความ (Author Ethical Responsibilities) บทบาทและหน้าที่ของบรรณาธิการวารสาร (Editor Roles and Responsibility) และบทบาทและหน้าที่ของผู้ประเมินบทความ (Reviewer Roles and Responsibilities) โดยให้ปฏิบัติร่วมกันอย่างเคร่งครัด เพื่อความถูกต้องและความน่าเชื่อถือของบทความที่ตีพิมพ์ในวารสาร ดังรายละเอียดต่อไปนี้

บทบาทและหน้าที่ของผู้เขียนบทความ (Author Ethical Responsibilities)

        1. บทความที่จะได้รับการพิจารณาลงตีพิมพ์นั้น จะต้องเป็นผลงานใหม่ ไม่เคยตีพิมพ์ที่ใดหรือได้รับตีพิมพ์จากวารสารอื่น ๆ มาก่อนและไม่ส่งต้นฉบับบทความซ้ำซ้อนกับวารสารอื่น

        2. เนื้อหาของบทความจะต้องเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของวารสาร

        3. การรายงานข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจากการทำวิจัย ต้องไม่บิดเบือนข้อมูล หรือให้ข้อมูลที่เป็นเท็จ

        4. บทความต้องไม่เกิดจากการคัดลอกผลงานของผู้เขียนรายอื่นๆ

        5. ผู้เขียนบทความจะต้องปรับบทความตามรูปแบบและขนาดตัวอักษรตามแบบฟอร์ม (template) ของวารสารที่กำหนดไว้ใน "คำแนะนำในการเตรียมต้นฉบับเพื่อตีพิมพ์"

        6. ผู้เขียนต้องอ้างอิงผลงานของผู้อื่น หากมีการนำผลงานเหล่านั้นมาใช้ในบทความของตัวเอง เช่น ภาพ ตาราง เป็นต้น รวมทั้งจัดทำรายการอ้างอิงท้ายบทความ

        7. ผู้เขียนต้องตรวจสอบความถูกต้องของรายการเอกสารอ้างอิง ประกอบด้วยรูปแบบและเนื้อหาตามข้อกำหนดของวารสาร

        8. ผู้เขียนที่มีชื่ออยู่ในบทความทุกคน ต้องเป็นผู้ที่มีส่วนในการดำเนินการบทความจริง

        9. ผู้เขียนต้องระบุแหล่งทุนที่สนับสนุนในการทำวิจัยนี้ และ/หรือมีผลประโยชน์ทับซ้อนจะต้องระบุในบทความ และแจ้งให้บรรณาธิการทราบ

        10. ผู้เขียนไม่ควรนำเอกสารวิชาการที่ไม่ได้อ่านมาอ้างอิง หรือใส่ไว้ในเอกสารอ้างอิง และควรอ้างอิงเอกสารอย่างถูกต้องและเหมาะสม

        11. การกล่าวขอบคุณผู้มีส่วนช่วยเหลือในกิตติกรรมประกาศนั้น หากสามารถทำได้ผู้เขียนบทความควรขออนุญาตจากผู้ที่ผู้เขียนประสงค์จะแสดงการกล่าวขอบคุณก่อนจะปรากฏข้อมูลในเนื้อความ

        12. ผู้เขียนจะต้องไม่รายงานข้อมูลที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ไม่ว่าจะเป็นการสร้างข้อมูลเท็จ หรือการปลอมแปลง บิดเบือน รวมไปถึงการตกแต่ง หรือเลือกแสดงข้อมูลเฉพาะที่สอดคล้องกับข้อสรุป

        13. การศึกษาวิจัยในคนหรือสัตว์ต้องได้รับการรับรองจากคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยและขอให้แนบหนังสือรับรองจริยธรรมจากคณะกรรมการจริยธรรม การอนุมัติให้ลงตีพิมพ์ขึ้นอยู่กับการพิจารณาจากกองบรรณาธิการวารสารฯ ถือเป็นที่สิ้นสุด

 บทบาทและหน้าที่ของบรรณาธิการวารสาร (Editor Roles and Responsibility)

        1. บรรณาธิการมีหน้าที่พิจารณาคุณภาพของบทความ เพื่อตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารที่ตนรับผิดชอบ และไม่ตีพิมพ์บทความที่เคยตีพิมพ์จากวารสารอื่น ๆ มาแล้ว

        2. บรรณาธิการต้องไม่เปิดเผยข้อมูลของผู้เขียน และผู้ประเมินบทความ แก่บุคคลอื่น ๆ

        3. บรรณาธิการมีหน้าที่พิจารณาตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานวิจัยที่มีระเบียบวิธีวิจัยที่ถูกต้อง และให้ผลที่น่าเชื่อถือ โดยนำผลของการวิจัยมาเป็นตัวชี้นำว่า สมควรตีพิมพ์เผยแพร่หรือไม่

        4. บรรณาธิการมีหน้าที่พิจารณาคัดเลือกบทความวิจัย/วิชาการมาตีพิมพ์หลังจากผ่านกระบวนการประเมินบทความแล้ว โดยพิจารณาจากความสำคัญ ความใหม่ ความชัดเจน และความสอดคล้องของเนื้อหากับนโยบายของวารสารเป็นสำคัญ

        5. บรรณาธิการต้องไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับผู้เขียนและผู้ประเมิน

        6. บรรณาธิการต้องตรวจสอบว่าบทความนั้น ๆ ได้มีการตรวจสอบบทความในด้านการคัดลอกผลงานผู้อื่น (Plagiarism) อย่างจริงจัง โดยใช้โปรแกรมที่เชื่อถือได้ เพื่อให้แน่ใจว่าบทความที่ลงตีพิมพ์ในวารสารไม่มีการคัดลอกผลงานของผู้อื่น

        7. เมื่อบรรณาธิการตรวจพบการคัดลอกผลงานของผู้อื่น ในกระบวนการประเมินบทความ บรรณาธิการจะต้องระงับการประเมินและติดต่อผู้เขียนหลัก เพื่อขอคำชี้แจง ประกอบการพิจารณาตอบรับหรือปฏิเสธการตีพิมพ์บทความนั้นๆ

        8. หากบรรณาธิการตรวจพบว่า บทความมีการลอกเลียนบทความอื่นโดยมิชอบ หรือมีการปลอมแปลงข้อมูล บทความจะถูกถอดถอน หากผู้เขียนปฏิเสธที่จะถอนบทความ บรรณาธิการสามารถดำเนินการถอนบทความได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้เขียน ซึ่งถือเป็นสิทธิและความรับผิดชอบต่อบทความของบรรณาธิการ

 บทบาทและหน้าที่ของผู้ประเมินบทความ (Reviewer Roles and Responsibilities)

        1. ผู้ประเมินบทความต้องไม่เปิดเผยข้อมูลในบทความแก่บุคคลอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องในช่วงระยะเวลาของการประเมินบทความ

        2. หากผู้ประเมินบทความมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับผู้เขียน เช่น รู้จักในฐานะเป็นผู้ร่วมโครงการ หรือรู้จักผู้นิพนธ์เป็นการส่วนตัวหรือเหตุผลอื่น ๆที่ทำให้เกิดโน้มเอียงต่อการประเมินบทความ ผู้ประเมินบทความควรแจ้งให้บรรณาธิการวารสารทราบ และปฏิเสธที่จะทำการประเมินบทความนั้นๆ

        3. ผู้ประเมินบทความควรรับประเมินบทความเฉพาะสาขาวิชาที่ตนมีความเชี่ยวชาญ หากพบว่ามีส่วนใดของบทความที่มีความเหมือนกันกับผลงานชิ้นอื่น ๆ หรือตีพิมพ์ซ้ำซ้อน ผู้ประเมินบทความต้องแจ้งให้บรรณาธิการทราบ

        4. ผู้ประเมินบทความควรระบุผลงานวิจัยที่สำคัญ ๆ และสอดคล้องกับบทความที่กำลังประเมิน และหากพบว่ามีเนื้อหาส่วนใดของบทความที่มีความเหมือนหรือซ้ำซ้อนกับผลงานชิ้นอื่น ๆ ผู้ประเมินบทความต้องแจ้งให้บรรณาธิการทราบด้วย