ความพึงพอใจในงานของพยาบาลโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์อินเตอร์เนชั่นแนล

ผู้แต่ง

  • ปิยธิดา ตรีเดช รองศาสตราจารย์ ภาควิชาบริหารงานสาธารณสุข คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
  • พีระ ครึกครื้นจิตร ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ภาควิชาบริหารงานสาธารณสุข คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
  • นิตยา ธนกาญจน์ วิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต(สาธารณสุขศาสตร์) สาขาวิชาเอกบริหารสาธารณสุข คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

คำสำคัญ:

ความพึงพอใจในงาน, พยาบาลวิชาชีพ, การเสริมสร้างพลังอำนาจในงาน, ลักษณะของโรงพยาบาลดึงดูดใจ, โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์อินเตอร์เนชั่นแนล

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงพรรณนา เพื่อวัดระดับความความพึงพอใจในงานของพยาบาลวิชาชีพโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์อินเตอร์เนชั่นแนล โดยศึกษาในกลุ่มตัวอย่างที่เป็นพยาบาลวิชาชีพที่ทำงานไม่น้อยกว่า 1 ปี จำนวน 139 คน คิดเป็นร้อยละ 100 เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยคือแบบสอบถาม การวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้คอมพิวเตอร์โปรแกรมสำเร็จรูป คำนวณหาค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานและค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของเพียร์สัน

ผลการวิจัยพบว่าพยาบาลวิชาชีพโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์อินเตอร์เนชั่นแนลส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง 26-30 ปี มีสถานภาพสมรสโสด ระดับการศึกษาสูงสุดปริญญาตรี ระยะเวลาในการทำงานในโรงพยาบาล 1-5 ปี และทำงานแผนกผู้ป่วยใน คิดเป็นร้อยละ 43.2, 74.8, 92.8, 54.7 และ 65.5 ตามลำดับ พยาบาลวิชาชีพมีความพึงพอใจในงานโดยรวมอยู่ในระดับสูง คิดเป็นร้อยละ 68.3 โดยมีความพึงพอใจในงานด้านด้านลักษณะงานมากที่สุด ยกเว้นด้านรายได้สวัสดิการที่ต่ำสุด การเสริมสร้างพลังอำนาจในงานโดยรวมอยู่ในระดับสูงคิดเป็นร้อยละ66.2 โดยการเสริมสร้างพลังอำนาจในงานด้านการได้รับข้อมูลข่าวสารอยู่ในระดับสูงที่สุด ยกเว้นด้านการได้รับทรัพยากรอยู่ในระดับต่ำที่สุด ลักษณะของโรงพยาบาลดึงดูดใจโดยรวมอยู่ในระดับสูงคิดเป็นร้อยละ 56.1โดยลักษณะของโรงพยาบาลดึงดูดใจด้านสัมพันธภาพกับแพทย์อยู่ในระดับสูงที่สุด รองลงมา คือ ด้านความเป็นอิสระ และการควบคุมสิ่งแวดล้อมในการทำงานมีระดับต่ำที่สุด ผลการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการเสริมสร้างพลังอำนาจในงาน และ ลักษณะของโรงพยาบาลดึงดูดใจพบว่า มีความสัมพันธ์เชิงบวกระดับสูงกับความพึงพอใจในงานของพยาบาลวิชาชีพโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ p-value < .001

ข้อเสนอแนะจากผลการวิจัยคือควรมีการเพิ่มความพึงพอใจในการทำงานมากขึ้นโดยผู้บริหารควรให้รางวัลและคำชมเชยกับพนักงานที่ทำงานมีประสิทธิภาพ สนับสนุนการศึกษาต่อโดยการจัดหาทุนการศึกษาหรือจัดเวลาให้สะดวก และใช้ช่องทางการให้ข้อมูลข่าวสารที่มีประสิทธิภาพสูงของโรงพยาบาลช่วยในการให้ข้อมูลและทำความเข้าใจ ที่ถูกต้องตรงกันกับพนักงาน รวมทั้งควรมีโครงการพัฒนาสิ่งแวดล้อมในการทำงานและมีโครงการพัฒนาวิชาชีพการพยาบาลเพื่อให้พยาบาลมีความรู้ สามารถตัดสินใจในการดูแลผู้ป่วยได้อย่างถูกต้อง

Downloads

ฉบับ

บท

บทความวิจัย