ปัจจัยทำนายภาวะสับสนเฉียบพลันในผู้ป่วยสูงอายุที่เข้ารับการรักษา ในหอผู้ป่วยศัลยกรรมออร์โธปิดิกส์

ผู้แต่ง

  • จินตนา สินธุสุวรรณ์ นิสิตพยาบาลศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการพยาบาลผู้สูงอายุ คณะพยาบาลศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • ศิริพันธุ์ สาสัตย์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ คณะพยาบาลศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

คำสำคัญ:

ภาวะสับสนเฉียบพลัน, ออร์โธปิดิกส์, ผู้ป่วยสูงอายุ

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาภาวะสับสนเฉียบพลันในผู้ป่วยสูงอายุที่เข้ารับการรักษาในหอผู้ป่วยศัลยกรรมออร์โธปิดิกส์ ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยคัดสรร ได้แก่ ความสามารถในการปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน ภาวะอิเล็กโตรไลต์ ความรุนแรงของโรค การใช้ยาหลายชนิด การถูกจำกัดการเคลื่อนไหว และการรับรู้ทางเชาวน์ปัญญา กับภาวะสับสนเฉียบพลันในผู้ป่วยสูงอายุที่เข้ารับการรักษาในหอผู้ป่วยศัลยกรรมออร์โธปิดิกส์ และศึกษาปัจจัยทำนายภาวะสับสนเฉียบพลันในผู้ป่วยสูงอายุที่เข้ารับการรักษาในหอผู้ป่วยศัลยกรรมออร์โธปิดิกส์ กลุ่มตัวอย่าง คือ ผู้ป่วยสูงอายุ ซึ่งได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคทางศัลยกรรมออร์โธปิดิกส์ ที่เข้ารับการรักษาในแผนกผู้ป่วยใน โรงพยาบาลรัฐ เขตกรุงเทพมหานคร จำนวน 120 คน โดยการเลือกแบบเฉพาะเจาะจง เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยคือ แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล แบบประเมินความสามารถในการปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน แบบวัดความรุนแรงของโรค แบบประเมินการรับรู้ทางเชาวน์ปัญญา และแบบประเมินภาวะสับสนเฉียบพลันในผู้ป่วยสูงอายุ ผ่านการตรวจสอบโดยผู้ทรงคุณวุฒิ หาความเที่ยง โดยวิธีสัมประสิทธ์อัลฟาของ ครอนบาค มีความเที่ยงเท่ากับ .80, .78, .84 และ .70 ตามลำดับ วิเคราะห์ข้อมูลโดยการหาความถี่ ค่าเฉลี่ย ค่าร้อยละ ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์แบบเพียร์สัน และสถิติวิเคราะห์ถดถอยพหุคูณแบบขั้นตอน ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้

1. ภาวะสับสนเฉียบพลันในผู้ป่วยสูงอายุที่เข้ารับการรักษาในหอผู้ป่วยศัลยกรรมออร์โธปิดิกส์ มีค่าคะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 14.18 คะแนน ซึ่งแสดงว่ามีภาวะสับสนเฉียบพลัน

2. ความสามารถในการปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน และการรับรู้ทางเชาวน์ปัญญามีความสัมพันธ์เชิงลบกับภาวะสับสนเฉียบพลันในผู้ป่วยสูงอายุที่เข้ารับการรักษาในหอผู้ป่วยศัลยกรรมออร์โธปิดิกส์ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 (r=-.438, -.541 ตามลำดับ)

3. ความรุนแรงของโรค และการถูกจำกัดการเคลื่อนไหว มีความสัมพันธ์เชิงบวก กับภาวะสับสนเฉียบพลันในผู้ป่วยสูงอายุที่เข้ารับการรักษาในหอผู้ป่วยศัลยกรรมออร์โธปิดิกส์ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 (r= .593, .256 ตามลำดับ)

4. ตัวแปรที่สามารถรวมกันทำนายภาวะสับสนเฉียบพลันในผู้ป่วยสูงอายุ ได้อย่างมีนัยสำคัญ คือ ความรุนแรงของโรค และการรับรู้ทางเชาวน์ปัญญา โดยร่วมกันอธิบายความแปรปรวนภาวะสับสนเฉียบพลันในผู้ป่วยสูงอายุที่เข้ารับการรักษาในหอผู้ป่วยศัลยกรรมออร์โธปิดิกส์ได้ ร้อยละ 48.5 โดยมีสมการในรูปคะแนนมาตรฐาน ดังนี้

ẑ ภาวะสับสนเฉียบพลัน = .465 Z1 ความรุนแรงของโรค -.388 Z2 การรับรู้ทางเชาวน์ปัญญา

Downloads

ฉบับ

บท

บทความวิจัย