ภาพลักษณ์ตนเองเชิงวิชาชีพตามการรับรู้ของพยาบาลวิชาชีพที่ปฏิบัติงาน ในโรงพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กรุงเทพมหานคร
คำสำคัญ:
ภาพลักษณ์ตนเองเชิงวิชาชีพ, พยาบาลวิชาชีพบทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงบรรยาย มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาภาพลักษณ์ตนเองเชิงวิชาชีพตามการรับรู้ของพยาบาลวิชาชีพที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กรุงเทพมหานครและเปรียบเทียบภาพลักษณ์ตนเองเชิงวิชาชีพระหว่างกลุ่มพยาบาลวิชาชีพที่มีปัจจัยส่วนบุคคล ได้แก่ อายุ การศึกษา ระยะเวลาในการปฏิบัติงาน หน่วยงานที่ปฏิบัติ และตำแหน่งงานแตกต่างกัน กลุ่มตัวอย่างคือพยาบาลวิชาชีพที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กรุงเทพมหานครจำนวน 336 คน ได้จากการสุ่มแบบหลายขั้นตอน (Multi-stage sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยคือแบบสอบถามภาพลักษณ์ตนเองเชิงวิชาชีพตามการรับรู้ของพยาบาลวิชาชีพที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นจากแนวคิดของ Strasen, 1992, Arthur, 1995 และ Cowin, 2001 ประกอบด้วยการประเมินใน 7 ด้านคือ1) ความรู้ทางการพยาบาล 2) ทักษะทางการพยาบาล 3) การติดต่อสื่อสาร 4) ผู้นำการปฏิบัติทางการพยาบาล 5) การควบคุมตนเอง 6) ความภาคภูมิใจในวิชาชีพพยาบาล และ7)ความสุขในการทำงาน เครื่องมือผ่านการตรวจสอบความตรงเชิงเนื้อหาจากผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 6 ท่านได้ค่าความตรงตามเนื้อหาเท่ากับ.86 และทดสอบความเที่ยงโดยหาค่าสัมประสิทธิ์แอลฟาของครอนบาคได้ค่าความเที่ยงเท่ากับ .93 วิเคราะห์ข้อมูลหาค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน สถิติทดสอบที (t-test) และวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One way ANOVA)
ผลการวิจัยพบว่า พยาบาลวิชาชีพ โรงพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กรุงเทพมหานคร มีการรับรู้ภาพลักษณ์ตนเองเชิงวิชาชีพอยู่ในระดับสูง (x̄ = 3.90, SD = 0.43) พยาบาลวิชาชีพที่มี อายุ และระยะเวลาในการปฏิบัติงานที่ต่างกันจะมีการรับรู้ภาพลักษณ์ตนเองเชิงวิชาชีพแตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 ส่วนพยาบาลวิชาชีพที่มีการศึกษาเพิ่มเติมและตำแหน่งงานที่สูงกว่าจะมีการรับรู้ภาพลักษณ์ตนเองเชิงวิชาชีพสูงกว่าพยาบาลที่ไม่ได้รับการศึกษาเพิ่มเติมและตำแหน่งงานที่น้อยกว่า อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 สำหรับพยาบาลวิชาชีพที่ปฏิบัติงานในหน่วยงานที่ต่างกันมีการรับรู้ภาพลักษณ์ตนเองเชิงวิชาชีพไม่แตกต่างกัน
Downloads
Downloads
How to Cite
ฉบับ
บท
License
บทความที่ได้รับการตีพิมพ์ เป็นลิขสิทธิ์ของวารสารวิจัยสุขภาพและการพยาบาล (วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี กรุงเทพ) ไม่สามารถนำไปตีพิมพ์ซ้ำในวารสารฉบับอื่น