การจัดการความรู้กับการพัฒนาภารกิจอุดมศึกษาในวิทยาลัยพยาบาล สังกัดสถาบันพระบรมราชชนก กระทรวงสาธารณสุข Knowledge Management Develop mission of Hiqher Education in Nursing Colleges Under Praboramarajchanok Institute the Ministry of Pubic Health
บทคัดย่อ
บทนำ
พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2545 มาตรา 34 กำหนดให้คณะกรรมการการจัดทำมาตรฐานการอุดมศึกษา มาตรฐานฉบับนี้ประกอบด้วยมาตรฐานย่อย 3 ด้าน ได้แก่มาตรฐานด้านคุณภาพบัณฑิต มาตรฐานด้านการบริหารจัดการการอุดมศึกษา และมาตรฐานด้านการสร้างและพัฒนาสังคมฐานความรู้และสังคมแห่งการเรียนรู้ มาตรฐานด้านการบริหารจัดการการอุดมศึกษา เป็นภารกิจที่ สถาบันอุดมศึกษามุ่งเน้นเพื่อส่งเสริมวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง โดยผ่านบทบาทภารกิจหลัก 4 ด้าน คือ 1) ด้านการสอน 2) ด้านการวิจัย 3) การบริการวิชาการแก่สังคม และ4) ทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม (วราภรณ์ บวรศิริ, มปพ.)
วิทยาลัยพยาบาล ในสังกัดสถาบันพระบรมราชชนก กระทรวงสาธารณสุข เป็นสถาบันการศึกษาในระดับอุดมศึกษา สังกัดกระทรวงสาธารณสุข มีบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบตามพันธกิจของอุดมศึกษาทั้ง 4 ด้าน คือ ด้านวิชาการ ด้านการวิจัย ด้านการบริการวิชาการ และด้านการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมไทย นอกจากนี้ยังเพิ่มเติมในบทบาทหน้าที่ด้านการพัฒนาบุคลากรด้วยตามที่สถาบันพระบรมราชชนกได้มอบหมาย ซึ่งวิทยาลัยพยาบาล ในสงกัดสถาบันพระบรมราชชนก มีหน้าที่หลักในการผลิตบุคลากรทางด้านสุขภาพ โดยเฉพาะพยาบาลศาสตรบัณฑิตตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2498 ถึงปัจจุบัน ได้ดำเนินการจัดการศึกษา และพัฒนาคุณภาพทางด้านการศึกษาอย่างต่อเนื่องตลอดเวลาเพื่อให้ได้บัณฑิตที่มีคุณภาพออกไปรับใช้สังคม และได้รับการตรวจสอบคุณภาพการศึกษาจนได้รับการรับรองคุณภาพจากองค์กรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น สถาบันพระบรมราชชนก สภาการพยาบาล และ สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา เมื่อพิจารณาจากคุณภาพการศึกษาที่ผ่านมาของวิทยาลัยพยาบาล พบว่า วิทยาลัยพยายามพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการเพื่อให้ภารกิจอุดมศึกษาได้รับการรับรองคุณภาพตามเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดไว้ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (2553) ได้ทำการพัฒนาเกณฑ์การประกันคุณภาพการศึกษา โดยระบุไว้ในองค์ประกอบที่ 7 การบริหารและการจัดการ ตัวบ่งชี้ที่ 7.2 เรื่องการพัฒนาสถาบันสู่สถาบันเรียนรู้ โดยมีเกณฑ์มาตรฐาน ประกอบด้วย 1) มีการกำหนดประเด็นความรู้และเป้าหมายของการจัดการความรู้ที่สอดคล้องกับแผนกลยุทธ์ของสถาบันอย่างน้อยครอบคลุมพันธกิจ ด้านการผลิตบัณฑิตและด้านการวิจัย 2) กำหนดบุคลากรกลุ่มเป้าหมายที่จะพัฒนาความรู้และทักษะด้านการผลิตบัณฑิตและด้านการวิจัยอย่างชัดเจนตามประเด็นความรู้ที่กำหนดในข้อ 1 3) มีการแบ่งปันและแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากความรู้ทักษะของผู้มีประสบการณ์ตรง (Tacit Knowledge) เพื่อค้นหาแนวปฏิบัติที่ดีตามประเด็นความรู้ที่กำหนดในข้อ 1 และเผยแพร่ไปสู่บุคลากรกลุ่มเป้าหมายที่กำหนด 4) มีการรวบรวมความรู้ตามประเด็นความรู้ที่กำหนดในข้อ 1 ทั้งที่มีอยู่ในตัวบุคคลและแหล่งเรียนรู้อื่นๆ ที่เป็นแนวปฏิบัติที่ดีมาพัฒนาและจัดเก็บอย่างเป็นระบบโดยเผยแพร่ออกมาเป็นลายลักษณ์อักษร (Explicit Knowledge) 5) มีการนำความรู้ที่ได้จากการจัดการความรู้ในปีการศึกษาปัจจุบันหรือปีการศึกษาที่ผ่านมา ที่เป็นลายลักษณ์อักษร (Explicit Knowledge) และจากความรู้ ทักษะของผู้มีประสบการณ์ตรง (Tacit Knowledge) ที่เป็นแนวปฏิบัติที่ดีมาปรับใช้ในการปฏิบัติงานจริง จะเห็นได้ว่าการประกันคุณภาพการศึกษาให้ความสำคัญต่อการพัฒนาสถาบันสู่สถาบันเรียนรู้ โดยใช้หลักการบริหารและการจัดการของการจัดการความรู้ ดังนั้นสถาบันอุดมศึกษาต่างๆจึงต้องพิจารณาหลักการบริหารจัดการที่จะสามารถดำเนินการให้บรรลุตามภารกิจอุดมศึกษาของแต่ละสถาบัน
Downloads
Downloads
เผยแพร่แล้ว
How to Cite
ฉบับ
บท
License
บทความที่ได้รับการตีพิมพ์ เป็นลิขสิทธิ์ของวารสารวิจัยสุขภาพและการพยาบาล (วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี กรุงเทพ) ไม่สามารถนำไปตีพิมพ์ซ้ำในวารสารฉบับอื่น