ผลของโปรแกรมฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจที่จัดการโดยพยาบาลต่อการรับประทานยาในผู้ป่วยหลังเกิดกลุ่มอาการโรคหลอดเลือดหัวใจเฉียบพลัน:การทดลองแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุม

ผู้แต่ง

  • ปณิชา พลพินิจ
  • อาภรณ์ ดีนาน
  • วรรณี เดียวอิศเรศ

คำสำคัญ:

กลุ่มอาการโรคหลอดเลือดหัวใจเฉียบพลัน, การฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจที่จัดการโดยการพยาบาล, การรับประทานยา

บทคัดย่อ

          ภายหลังการเกิดกลุ่มอาการโรคหลอดเลือดหัวใจผู้ป่วยต้องมีการรับประทานยาตามแผนการรักษาเพื่อควบคุมอาการและป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนสำคัญที่อาจเกิดขึ้น แต่จากการศึกษาที่ผ่านมาพบว่าการรับประทานยาตามแผนการรักษาในผู้ป่วยกลุ่มนี้ยังคงเป็นปัญหา การทดลองแบบสุ่ม และมีกลุ่มควบคุมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินผลของโปรแกรมการฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจที่จัดการโดยพยาบาลต่อการรับประทานยาในผู้ป่วยหลังเกิดกลุ่มอาการโรคหลอดเลือดหัวใจเฉียบพลัน กลุ่มตัวอย่างได้แก่ ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นกลุ่มอาการโรคหลอดเลือดหัวใจเฉียบพลันครั้งแรก ที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนดจำนวน 72 คน สุ่มเข้ากลุ่มทดลองจำนวน 33 คน และกลุ่มควบคุม จำนวน 39 คน กลุ่มทดลองได้รับโปรแกรมฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจที่จัดการโดยพยาบาลและการพยาบาลตามปกติขณะที่กลุ่มควบคุมได้รับการพยาบาลตามปกติเพียงอย่างเดียว โปรแกรมฟื้นฟูสมรรถภาพฯ พัฒนาขึ้นภายใต้การผสมผสานระหว่างกรอบแนวคิดการปฏิบัติโดยใช้หลักฐานเชิงประจักษ์และการควบคุมกำกับตนเองของลีเวนทอลล์และคณะโปรแกรมระยะเวลา 12 สัปดาห์ ประกอบด้วยกิจกรรมหลักที่สำคัญ คือ การประเมินความเสี่ยง การให้ข้อมูลเรื่องความเสี่ยง และการให้ความรู้การตั้งเป้า หมายพฤติกรรมสุขภาพ การเฝ้าระวังและติดตามผลการปฏิบัติ การกระตุ้นและให้การสนับสนุนทางสังคมอย่างต่อเนื่อง เก็บข้อมูลหลังการทดลองในสัปดาห์ที่ 12 และสัปดาห์ที่ 16 โดยใช้แบบสัมภาษณ์พฤติกรรมการรับประทานยา วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติพรรณนา สถิติไคว์สแคว์ และแมนท์วิทนีย์ยู         

          ผลการศึกษาพบว่ากลุ่มทดลองมีอัตราการรับประทานยาตามแผนการรักษาสูงกว่าในกลุ่มควบคุมทั้งในระยะ 3 และ 4 เดือนหลังการทดลอง แต่ไม่พบความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญในเดือนที่ 3 หลังการทดลอง (Z = -1.509, p = .13). ส่วนในเดือนที่ 4 หลังการทดลองพบว่าอัตราส่วนของกลุ่มตัวอย่างที่รับประทานยาตามแผนการรักษาในกลุ่มทดลอง เพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ในกลุ่มควบคุมลดลง และพบว่ามีความแตกต่างกันระหว่างกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (Z = -2.219, p = .03) จากผลการศึกษาครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า โปรแกรมฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจที่จัดการโดยพยาบาลเป็นโปรแกรมที่มีประสิทธิภาพในการส่งเสริมการรับประทานยาตามแผนการรักษาอย่างต่อเนื่องในผู้ป่วยหลังเกิดกลุ่อาการโรคหลอดเลือดหัวใจเฉียบพลัน เพื่อลดและป้องกันอาการของโรคที่อาจเกิดขึ้นได้

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2018-01-05