คำแนะนำผู้นิพนธ์

วารสารการแพทย์แผนจีนในประเทศไทยพิมพ์เผยแพร่บทความที่เกี่ยวข้องกับวิชาการและนวัตกรรมด้านการแพทย์แผนจีน และสมุนไพร โดยรับบทความที่เป็นภาษาไทย จีน หรืออังกฤษ ทั้งนี้ แต่ละบทความไม่ว่าจะเป็นภาษาใดก็ตาม จะมีชื่อบทความ ชื่อผู้นิพนธ์ สถานที่ทำงาน บทคัดย่อ และคำสำคัญทั้ง 3 ภาษา

สามารถศึกษารูปแบบการเขียนที่ ตัวอย่างแบบฟอร์มการเขียนบทความ
สามารถศึกษาการส่งบทความที่  วิธีการส่งบทความผ่านระบบ THAIJO

การเตรียมและส่งต้นฉบับ

1. ประเภทหัวข้อและเนื้อหาในวารสาร

1.1) บรรณาธิการแถลง (Editor’s Note) เป็นการสื่อสารระหว่างบรรณาธิการกับผู้อ่านให้ทราบเกี่ยวกับข่าวสาร บทความ รายงานการศึกษา และอื่นๆ ที่กองบรรณาธิการได้นำเสนอในวารสาร หรือเป็นการแสดงความคิดเห็น ความในใจ ความรู้สึกต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์วิชาการ บทความ ความรู้ หรืออื่นๆ ที่บรรณาธิการต้องการสื่อให้ผู้อ่านได้รับรู้หรือเข้าใจ

1.2) จดหมายถึงบรรณาธิการ (Letter to Editor) หรือ จดหมายโต้ตอบ (Correspondence) เป็นเวทีใช้ติดต่อตอบโต้ระหว่างนักวิชาการ ผู้อ่าน กับบรรณาธิการ หรือเจ้าของบทความที่ตีพิมพ์ในวารสาร ในกรณีผู้อ่านมีข้อคิดเห็นแตกต่างต้องการชี้ให้เห็นความไม่สมบูรณ์ หรือข้อผิดพลาดของรายงาน บางครั้งบรรณาธิการ อาจวิพากษ์ สนับสนุนหรือโต้แย้ง นอกจากนี้ ยังเป็นเวทีสำหรับการรายงานเบื้องต้น (preliminary report) หรือรายงานสังเขป (short communication) ซึ่งเป็นการนำเสนอรายงานผลการศึกษาวิจัยที่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ ต้องศึกษาต่อเพื่อเก็บข้อมูลเพิ่มเติม และรายงานผู้ป่วย (case report)/บันทึกเวชกรรม (clinical note) ซึ่งเป็นการรายงานผู้ป่วยที่ไม่ธรรมดา หรือที่เป็นโรคใหม่ หรือ กลุ่มอาการโรคใหม่ ที่ไม่เคยรายงานมาก่อน หรือพบไม่บ่อย โดยควรมีหลักฐานอย่างครบถ้วน

1.3) บทปริทัศน์ (Review Article) เป็นบทความที่รวบรวมความรู้เรื่องใดเรื่องหนึ่ง จากวารสารหรือหนังสือต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ประกอบด้วยชื่อเรื่อง ชื่อผู้นิพนธ์ ที่ทำงาน บทคัดย่อแบบย่อหน้าเดียว และคำสำคัญ ทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาจีน (กรณีที่เขียนภาษาไทยหรือภาษาจีนไม่ได้ ก็เว้นไว้ โดยทางวารสารจะดำเนินการให้) บทนำ วิธีการสืบค้นข้อมูล เนื้อหาที่ทบทวน บทวิจารณ์ บทสรุป และเอกสารอ้างอิง ความยาวของเรื่องรวมไม่ควรเกิน 10-15 หน้าพิมพ์ กระดาษ เอ 4 (นับรวมบทคัดย่อ 3 ภาษา ภาพ ตาราง แผนภูมิ และเอกสารอ้างอิง)

1.4) นิพนธ์ต้นฉบับ (Original Article) เป็นรายงานผลการศึกษา ค้นคว้า วิจัย ประกอบด้วยลำดับเนื้อเรื่องดังต่อไปนี้ ชื่อเรื่อง ชื่อผู้นิพนธ์ บทคัดย่อ และคำสำคัญ ทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาจีน (กรณีที่เขียนภาษาไทยหรือภาษาจีน ไม่ได้ ก็เว้นไว้ โดยทางวารสารจะดำเนินการให้) บทนำ ระเบียบวิธีศึกษา ผลการศึกษา อภิปรายผล ข้อสรุปกิตติกรรมประกาศ และเอกสารอ้างอิง ความยาวของเรื่องรวมแล้วไม่ควรเกิน 10-15 หน้าพิมพ์ กระดาษ เอ 4 (นับรวมบทคัดย่อ 3 ภาษา ภาพ ตาราง แผนภูมิ และเอกสารอ้างอิง)

1.5) เวทีทรรศนะ (Viewpoints & Perspectives) เป็นเวทีแห่งการแลกเปลี่ยนและเรียนรู้ข้อมูลเชิงวิชาการ แนวคิดและแนวทางใหม่ๆ ที่เกี่ยวกับการแพทย์แผนจีนและสมุนไพร โดยเสนอความคิดเห็น หรือวิพากษ์เชิงวิชาการของเรื่องที่ทำการศึกษาวิจัยในประเด็นที่ยังไม่มีข้อยุติที่ชัดเจน หรือมีความคิดเห็นในแง่มุมต่างๆ ที่แตกต่างออกไปจากผลการศึกษาวิจัยนั้นๆ หรือไม่ตรงกับความคิดที่มีอยู่เดิม รูปแบบการเขียนเป็นอิสระ แต่ต้องมีชื่อผู้นิพนธ์ บทคัดย่อ และคำสำคัญ ทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาจีน (กรณีที่เขียนภาษาไทยหรือภาษาจีนไม่ได้ ก็เว้นไว้ โดยทางวารสารจะดำเนินการให้) และเอกสารอ้างอิง ความยาวของเรื่องรวมแล้วไม่ควรเกิน 10-15 หน้าพิมพ์ กระดาษ เอ 4

1.6) ปกิณกะ (Miscellaneous) เป็นบทความขนาดย่อมที่ลักษณะอาจเข้าข่าย หรือไม่เข้าข่ายบทความต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้น หรือเป็นบทความแสดงข้อคิดเห็นเกี่ยวโยงกับเหตุการณ์ปัจจุบันที่อยู่ในความสนใจของประชาชนเป็นพิเศษ รูปแบบการเขียนเป็นอิสระ แต่ต้องมีชื่อเรื่อง ชื่อผู้นิพนธ์ และสังกัด ทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาจีน (กรณีที่เขียนภาษาไทย หรือภาษาจีนไม่ได้ ก็เว้นไว้ โดยทางวารสารจะดำเนินการให้) และเอกสารอ้างอิง ความยาวของเรื่องรวมแล้วไม่ควรเกิน 3-5 หน้าพิมพ์ กระดาษ เอ 4

1.7) วารสารสโมสร (Journal Club) เป็นบทแนะนำบทความวิชาการและงานวิจัยที่ดี น่าสนใจ พร้อมบทวิเคราะห์และวิจารณ์สั้นๆ โดยผู้เขียน เพื่อให้ผู้อ่านได้รับทราบและนำไปใช้เป็นประโยชน์หรือศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม

 

2. การเตรียมนิพนธ์ต้นฉบับ

ชื่อบทความ (Title) ประกอบด้วย

(1) ชื่อเรื่อง ควรสั้น กะทัดรัด และสื่อเป้าหมายหลักของการศึกษา ไม่ใช้คำย่อ ความยาวไม่ควรเกิน 100 ตัวอักษร พร้อมช่องไฟ ถ้าชื่อยาวมากให้ตัดเป็นชื่อรอง ชื่อเรื่องต้องมีภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาจีน (กรณีที่เขียนภาษาไทย หรือภาษาจีนไม่ได้ ก็เว้นไว้ โดยทางวารสารจะดำเนินการให้) โดยชื่อภาษาอังกฤษจะใช้อักษรตัวแรกเป็นตัวพิมพ์ใหญ่ทั้งหมด ยกเว้นคำบุพบท (preposition) 

(2) ชื่อผู้นิพนธ์ให้มีทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาจีน (ไม่ใช้คำย่อ) (กรณีที่เขียนภาษาไทยหรือภาษาจีนไม่ได้ ก็เว้นไว้)

(3) ชื่อหน่วยงานหรือสถาบันที่ผู้นิพนธ์สังกัด/ปฏิบัติงานให้มีทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาจีน (ไม่ใช้คำย่อ)

(กรณีที่เขียนภาษาไทยหรือภาษาจีนไม่ได้ ก็เว้นไว้)

(4) ชื่อผู้นิพนธ์ทุกคนต้องระบุหน่วยงานต้นสังกัด และอีเมล์ (เฉพาะผู้เขียนหลัก) ที่ใช้ติดต่อหรือเป็นผู้ที่รับผิดชอบเกี่ยวกับต้นฉบับและบทความที่ส่งพิจารณาเพื่อตีพิมพ์

(5) แหล่งทุนสนับสนุนการศึกษา (ถ้ามี)

บทคัดย่อ (Abstract)

วารสารฉบับนี้ กำหนดให้จัดทำบทคัดย่อแบบเป็นข้อความย่อหน้าเดียว เป็นเนื้อความย่อตามลำดับโครงสร้างของบทความ ได้แก่ หลักการและวัตถุประสงค์ ระเบียบวิธีศึกษา ผลการศึกษา อภิปราย และข้อสรุป ไม่เกิน 250 คำ หรือ 15 บรรทัด ใช้ภาษารัดกุมเป็นประโยคสมบูรณ์ มีความหมายในตัวเองไม่ต้องหาความหมายต่อ ต้องเป็นประโยคอดีต (ภาษาอังกฤษ) ไม่ควรมีคำย่อ ต้องเขียนทั้งบทคัดย่อภาษาไทย บทคัดย่อภาษาอังกฤษ และบทคัดย่อภาษาจีน บทคัดย่อของแต่ละภาษาไม่ควรมีอีกภาษาหนึ่งปน โดยไม่จำเป็น (กรณีที่เขียนภาษาไทยหรือภาษาจีนไม่ได้ ก็เว้นไว้ โดยทางวารสารจะดำเนินการให้)

บทคัดย่อภาษาอังกฤษ ให้ใส่คำว่า “Abstract” ไว้เหนือเนื้อความย่อ

บทคัดย่อภาษาจีนให้ใส่คำว่า “摘要” ไว้เหนือเนื้อความย่อ

การเรียงลำดับภาษาของบทคัดย่อ กำหนดให้ใช้ภาษาตามนิพนธ์ต้นฉบับเป็นลำดับแรก ตามด้วยภาษาไทย และภาษาที่ 3 หากบทความหลักเป็นภาษาไทย ภาษาที่ 2 จะเป็นภาษาอังกฤษ และตามด้วยภาษาจีน

คำสำคัญ (Keywords)

ให้ระบุทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษ  และภาษาจีน ใส่ไว้ท้ายบทคัดย่อของแต่ละภาษา ทำให้ผู้อ่านรู้ได้ว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร ใช้ประโยชน์ในการค้นหาบทความในระบบการสืบค้นต่างๆ โดยเฉพาะการค้นทางอินเทอร์เน็ต คำสำคัญอาจได้แก่ ขอบเขตของการศึกษา เช่น บริการสุขภาพ โรค กลุ่มที่ศึกษา สถานที่ ประเทศ วิธีหลักในการศึกษา (กรณีที่เขียนภาษาไทยหรือภาษาจีนไม่ได้ ก็เว้นไว้ โดยทางวารสารจะดำเนินการให้)

คำสำคัญภาษาอังกฤษให้ใสคำว่า “Keywords”

คำสำคัญภาษาจีนให้ใส่คำว่า “关键词”

คำสำคัญให้ใส่ไว้ท้ายบทคัดย่อ เป็นหัวข้อเรื่องสำหรับทำดัชนีคำสำคัญ (keyword index) ของปีวารสาร (volume) และดัชนีเรื่องสำหรับ Index Medicus โดยใช้ Medical Subject Headings (MeSH) terms ของ U.S. National Library of Medicine เป็นแนวทางการให้คำสำคัญ โดยใช้คำสำคัญ 3- 5 คำ แต่ละคำคั่นด้วยเครื่องหมายอัฒภาค ( ; )

เนื้อหาของบทความ ให้ระบุเป็นภาษาหลักของบทความ ได้แก่

บทนำ [Introduction หรือ 前言]

เป็นส่วนของเนื้อหาที่บอกความเป็นมา โดยมีการทบทวนวรรณกรรมให้เห็นถึงเหตุผลความจำเป็นของการศึกษาวิจัย ให้ข้อมูลทางวิชาการ พร้อมทั้งจุดมุ่งหมายอย่างคร่าวๆ โดยมีการอ้างอิงเอกสาร เป็นส่วนที่อธิบายให้ผู้อ่านทราบว่าจะตอบคำถามอะไร อย่างกระชับและชัดเจน และย่อหน้าสุดท้ายจะแสดงวัตถุประสงค์ของการศึกษาและการวิจัยนั้นด้วย ความยาวไม่ควรเกิน 2 หน้า

วิธีการศึกษา (Methodology หรือ 资料与方法)

เขียนชี้แจงแยกเป็น 2 หัวข้อใหญ่ คือวัสดุ (Material) และวิธีการศึกษา (Method)

- วัสดุ ให้บอกรายละเอียดของสิ่งที่นำมาศึกษา หรือกลุ่มตัวอย่าง (sample) เช่น ผู้ป่วย คนปรกติ สัตว์ พืช รวมถึงจำนวน และลักษณะเฉพาะของตัวอย่างที่ศึกษา เช่น เพศ อายุ น้ำหนัก ในกรณีที่ทำการศึกษาวิจัยในมนุษย์หรือสัตว์ ตลอดจนอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในการศึกษา ต้องบอกถึงการอนุญาตจากผู้ที่เข้ารับการศึกษาและการยอมรับจากคณะกรรมการพิจารณาจริยธรรมที่เกี่ยวข้อง ในกรณีศึกษาพืช ควรมีตัวอย่างพันธุ์ไม้อ้างอิงงานวิจัย (voucher specimens) ที่เก็บจากพืชต้นที่นำไปประกอบการวิจัยนั้นๆ อาจเก็บรักษาไว้เพื่ออ้างอิงในหอพันธุ์ไม้หรือที่สถาบัน

- วิธีการศึกษา

ให้ระบุรูปแบบวิธีการศึกษา (study design) เช่น randomize, double-blinded controlled trial หรือ descriptive study หรือ quasi-experimental design การสุ่มตัวอย่าง (randomize) เช่น การสุ่มตัวอย่างแบบง่าย แบบหลายขั้นตอน วิธีการ (interventions) หรือวิธีการดำเนินการ (procedure) ที่ทำการศึกษา เช่น วิธีการเตรียมยาที่ใช้ในการศึกษา ชนิดและขนาดยาที่ใช้ ถ้าเป็นวิธีการที่รู้จักทั่วไปให้ระบุในเอกสารอ้างอิง ถ้าเป็นวิธีใหม่ อธิบายให้ผู้อ่านเข้าใจ วิธีการเก็บข้อมูล วิธีการวิเคราะห์ข้อมูล และสถิติที่ใช้ ในกรณีใช้สารเคมีหรือยาที่สั่งซื้อให้ระบุแหล่งที่มาให้ชัดเจน โดยระบุในรูปแบบ (บริษัทและประเทศ)

ผลการศึกษา (Results หรือ 结果)

บรรยายถึงผลที่ได้จากการศึกษาตามลำดับหัวข้อของแผนการศึกษาอย่างชัดเจน ดูได้ง่าย ถ้าผลไม่ซับซ้อนไม่มีตัวเลขมาก บรรยายเป็นร้อยแก้ว แต่ถ้ามีตัวเลขมาก หรือมีหลายตัวตัวแปรมาก ควรใช้ตาราง หรือภาพตามความเหมาะสม โดยแสดงตัวเลขในตารางเฉพาะที่มีส่วนสำคัญ

อภิปรายผล (Discussion หรือ 讨论)

เป็นส่วนที่สำคัญที่สุดของบทความทางวิชาการ ต้องเขียนแยกจากผลการศึกษา เป็นการแสดงให้เห็นว่าการศึกษาวิจัยนี้ สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ (หรือไม่) ในการค้นหา ต่อยอด อุดช่องว่าง จนได้ความรู้ใหม่ที่เพิ่มจากที่เคยค้นพบมา มีการเปรียบเทียบกับการศึกษาที่ผ่านมา เพื่อแสดงถึงความรู้ใหม่ อาจยืนยันความรู้เดิมได้บ้าง หรือแตกต่างไปจากผลงานที่มีผู้รายงานไว้ก่อนหรือไม่ อย่างไร เพราะเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น อภิปรายผลที่ไม่ตรงตามที่คาดหวัง อย่างไม่ปิดบัง แต่พยายามอธิบายถึงแง่มุมใหม่ที่แสดงความสำคัญของผลการศึกษาที่ได้ว่าไปต่อยอดความรู้เดิมอย่างไร หรืออาจนำเอาผลการศึกษาอื่นมาอธิบายสิ่งที่ค้นพบจากการวิจัย หรือเอาสิ่งที่ค้นพบไปอธิบายผลการศึกษาอื่น

ความรู้ใหม่ ในที่นี้หมายถึง หลัก (principle) ทฤษฎี (theory) สารสนเทศ (information) หรือความสัมพันธ์ (relationship) ที่เป็นสิ่งใหม่ ซึ่งสรุปได้จากการศึกษา

ข้อสรุป (Conclusions หรือ 总结)

แสดงข้อสรุปเกี่ยวกับงานวิจัยทั้งชิ้นจากผลการศึกษา และการอภิปรายผล รวมทั้งแสดงว่าผลที่ได้ตรงกับวัตถุประสงค์การวิจัยหรือไม่ อย่างไร ควรมีข้อเสนอแนะในการใช้ประโยชน์ของงานวิจัย ในระดับนโยบาย ระดับปฏิบัติในหน่วยงาน หรือการนำไปประยุกต์ในท้องที่อื่น มีข้อเสนอแนะในมุมที่ควรมีการศึกษาเพิ่มเติม หรือให้ประเด็นคำถามการวิจัยสำหรับการวิจัยต่อไป ทั้งนี้ข้อเสนอแนะควรมีความสัมพันธ์เกี่ยวกับการศึกษาหรือข้อสรุปที่ได้

ตารางและภาพ

ควรคัดเลือกเฉพาะที่จำเป็น และต้องมีคำอธิบายสั้นๆ แต่สื่อความหมายได้สาระครบถ้วน ในกรณีที่เป็นตาราง ใช้คำว่า “ตารางที่ 1” หรือ “Table 1” หรือ “表 1” (ตามภาษาหลักของวารสาร) และชื่อตารางอยู่ด้านบน ชิดขอบซ้าย ในกรณีที่เป็นภาพซึ่งครอบคลุมหมายถึงรูปภาพ ภาพวาด กราฟ แผนภาพ (diagram) หรือแผนภูมิ (chart) ภาพลายเส้น ภาพถ่าย ภาพเอกซเรย์ เป็นต้น ให้ใช้คำว่า “ภาพที่ 1” หรือ “Figure 1” หรือ “图 1” (ตามภาษาหลักของวารสาร)  และชื่อภาพอยู่ด้านล่างกึ่งกลาง

     ควรแยกพิมพ์ภาพและตารางในหน้าต่างหาก และควรเว้นที่ว่างไว้ในเนื้อเรื่องพอเป็นที่เข้าใจ พร้อมกับเขียนแจ้งไว้ในกรอบว่า ใช้ตารางที่ หรือภาพที่

กิตติกรรมประกาศ (Acknowledgments หรือ 致谢)

ควรมีเพียงย่อหน้าเดียว ไม่ควรยาวมากนัก โดยใช้ภาษาหลักของบทความเพื่อแสดงความขอบคุณที่ได้รับการช่วยเหลือเฉพาะที่สำคัญ เช่น ผู้บริหาร ผู้ช่วยเหลือทางวิชาการ และผู้สนับสนุนทุนการวิจัย หน่วยงาน ควรระมัดระวังการใส่ชื่อคนช่วยจำนวนมากโดยไม่จำเป็นหรือไม่สมควร เพราะอาจทำให้บทความด้อยความภูมิฐานหรือผู้อ่านอาจอนุมานว่างานส่วนใหญ่มีคนช่วยทั้งหมด

เอกสารอ้างอิง (References หรือ 参考文献) ดูในหัวข้อการเขียนเอกสารอ้างอิง

 

3. การเขียนเอกสารอ้างอิง

การเขียนเอกสารอ้างอิง ต้องเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด (หากเอกสารอ้างอิงมีต้นฉบับเป็นภาษาไทยหรือภาษาจีน ผู้นิพนธ์ต้องแปลเป็นภาษาอังกฤษ โดยเพิ่ม “(in Thai)” และ “(in Chinese)” ตามลำดับท้ายรายการอ้างอิงนั้นๆ

     การอ้างอิงเอกสารใช้ระบบเวนคูเวอร์ (Vancouver system) โดยใส่ตัวเลขลอยในวงเล็บก้ามปูอยู่บนไหล่ท้ายข้อความ (superscript) หรือหลังชื่อบุคคลเจ้าของข้อความที่อ้างถึง โดยใช้หมายเลข [1] สำหรับเอกสารอ้างอิงลำดับแรกและเรียงต่อไปตามลำดับ ถ้าต้องการอ้างอิงซ้ำให้ใช้หมายเลขเดิม ห้ามใช้คำย่อในเอกสารอ้างอิงยกเว้นชื่อต้นและชื่อวารสาร บทความที่บรรณาธิการรับตีพิมพ์แล้วแต่ยังไม่เผยแพร่ ให้ระบุ “กำลังพิมพ์” บทความที่ไม่ได้ตีพิมพ์ให้แจ้ง “ไม่ได้ตีพิมพ์” ควรหลีกเลี่ยง “ติดต่อส่วนตัว” มาใช้อ้างอิง เว้นแต่มีข้อมูลสำคัญมากที่หาไม่ได้ทั่วไป ให้ระบุชื่อ และวันที่ติดต่อในวงเล็บท้ายชื่อเรื่องที่อ้างอิง

     ชื่อวารสารในการอ้างอิง ให้ใช้ชื่อย่อตามรูปแบบของ U.S. National Library of Medicine ที่ตีพิมพ์ใน Index Medicus ทุกปี การเขียนเอกสารอ้างอิงในวารสารวิชาการ มีหลักเกณฑ์ ดังนี้

3.1 การพิมพ์ชื่อผู้แต่ง เป็นได้ทั้งบุคคล กลุ่มบุคคล หรือหน่วยงาน และเป็นได้ทั้งผู้เขียน บรรณาธิการ หรือ ผู้รวบรวม ตามด้วย เครื่องหมายมหัพภาค ( . )

1) กรณีเป็นผู้แต่งเป็นคนไทย ให้ใช้ชื่อสกุลขึ้นก่อน ตามด้วยอักษรย่อตัวหน้าตัวเดียวของชื่อตัวและชื่อรอง (ถ้ามี) เว้น 1 วรรค โดยไม่ต้องมีเครื่องหมายใดใดคั่น

ตัวอย่าง   สุวิมล ติรกานันท์. ให้ใส่เป็น Trirakanan S.

                 อำพา แก้วกำกง.  ให้ใส่เป็น Kaewkumkong A.

2) กรณีเป็นผู้แต่งชาวต่างประเทศ ให้ใช้ชื่อสกุลขึ้นก่อน เว้น 1 วรรค ตามด้วยอักษรย่อตัวหน้าตัวเดียวของ    ชื่อตัวและชื่อรอง (ถ้ามี)  โดยไม่ต้องมีเครื่องหมายใดใดคั่น

ตัวอย่าง  Joffe JK.   Redfern SJ.   Zhang LM.   

3) กรณีที่ผู้แต่งมีจำนวนมากกว่า 1 คน

หากผู้แต่งมีจำนวนไม่เกิน 6 คน ให้ใส่ชื่อทุกคน โดยใช้เครื่องหมายจุลภาค ( , ) คั่นระหว่างชื่อ และ เว้น 1 วรรคหลังชื่อผู้แต่งชื่อสุดท้ายให้ใส่เครื่องหมายมหัพภาค ( . )

ตัวอย่าง   Lodish H, Baltimore D Jr, De Berk AE.

หากผู้แต่งมีจำนวนมากกว่า 6 คน ให้ใส่ชื่อ 6 คนแรก โดยใช้เครื่องหมายจุลภาค ( , ) คั่นระหว่างชื่อ และเว้น 1 วรรค หลังชื่อผู้แต่งชื่อที่ 6 ให้ใส่คำว่า “et al.” และตามด้วยเครื่องหมายมหัพภาค ( . )

ตัวอย่าง   Choi HK, Won LA, Kontur PJ, Hammond DN, Fox AP, Wainer BH, et al.

    4) ผู้แต่งที่เป็นกลุ่ม เป็นคณะ หรือสถาบัน ให้ใช้ชื่อกลุ่ม คณะ หรือสถาบันนั้นเป็นผู้แต่ง กรณีมีทั้งหน่วยงานใหญ่และหน่วยงานย่อย ให้ใส่เครื่องหมายจุลภาค ( , ) หลังชื่อหน่วยงานใหญ่ เว้น 1 วรรค ตามด้วยชื่อหน่วยงานย่อย และ เครื่องหมายมหัพภาค ( . )

ตัวอย่าง 
Institute of Medicine (US).
American Occupational Therapy Association, Ad Hoc Committee on Occupational Therapy Manpower.
National Lawyer’s Guild AIDs Network (US), National Gay Rights Advocates (US).

5) ไม่ปรากฏชื่อผู้แต่ง ให้ใช้ชื่อหนังสือหรือชื่อบทความแทนตำแหน่งชื่อผู้แต่ง

ตัวอย่าง

  1. Health promotion in nursing practice. Stamford: Appleton & Lange; 1996.
  2. Malaria in Cambodia. Journal of Tropical Medicine and Hygiene. 1998;23(4):23.

3.2 รูปแบบการพิมพ์ชื่อเอกสารอ้างอิง

1) บทความในวารสารวิชาการ

วารสารภาษาไทย ชื่อผู้นิพนธ์ให้ใช้ชื่อสกุลก่อน ตามด้วยอักษรย่อตัวหน้าตัวเดียวของชื่อตัวและชื่อรอง (ถ้ามี) การอ้างอิงชื่อผู้นิพนธ์ควร ระบุชื่อทั้งหมดที่มีตามต้นฉบับ ชื่อวารสารเป็นชื่อเต็ม และแปลทุกส่วนเป็นภาษาอังกฤษ แล้วใส่ “(in Thai)” ไว้ท้ายเอกสารอ้างอิงนั้น

วารสารภาษาอังกฤษ กรณีวารสารมีชื่ออยู่ใน Index Medicus ให้ใช้ชื่อย่อตามรูปแบบของ Index Medicus ชื่อเรื่องจะใช้ตัวพิมพ์เล็กทั้งหมด ยกเว้นตัวอักษรตัวแรก และชื่อเฉพาะต่างๆ  กรณีไม่มีชื่ออยู่ใน Index Medicus สามารถใช้ชื่อวารสารเต็มได้ หรือตามตัวอย่างดังนี้

  ชื่อผู้นิพนธ์. ชื่อเรื่อง. ชื่อวารสาร. ปี ค.ศ. ที่พิมพ์;วอลุม(ฉบับที่):หน้าแรก-หน้าสุดท้าย.

1.1) เอกสารจากวารสารวิชาการ เช่น

  1. Momungkhun K, Chaisuwan B. Process for communication and building acceptance of Thai traditional medicine. Journal of Communication and Management NIDA. 2015;1(3):37-58. (in Thai)
  2. Prozialeck WC. Update on the pharmacology and legal status of Kratom. JAMA. 2016;116(12):802-9.

1.2) องค์กรเป็นผู้นิพนธ์ เช่น

  1. American Diabetes Association. Economic costs of diabetes in the US in 2017. Diabetes Care. 2018;41(5):917–28.

1.3) ไม่มีชื่อผู้นิพนธ์ เช่น

  1. Cancer in South Africa (editorial). S. Afr Med J. 1994;84(12):15.

1.4) ระบุประเภทของบทความ (เฉพาะบทความที่ไม่ใช่นิพนธ์ต้นฉบับ) เช่น

  1. Enzenseberger W, Fischer PA. Metronome in Parkinson’s disease (letter). Lancet. 1996;347 (9011):1337

 2) หนังสือ ตำรา หรือรายงาน

2.1) หนังสือหรือตำราผู้นิพนธ์เขียนทั้งเล่ม

ชื่อผู้นิพนธ์. ชื่อหนังสือ. ครั้งที่พิมพ์. เมืองที่พิมพ์: สำนักพิมพ์; ปีที่พิมพ์.

2.1.1) หนังสือแต่งโดยผู้นิพนธ์ เช่น

  1. Nitpanit S. Thai traditional medicine will be part of the mainstream medical service system of Thailand. Nonthaburi: Department of Development of Thai Traditional and Alternative Medicine, Ministry of Public Health; 2014. (in Thai)
  2. Ringsven MK, Bond D. Gerontology and leadership skills for nurses.  ed. Albany (NY): Delmer Publishers; 1996.

2.1.2) หนังสือมีบรรณาธิการ เช่น

  1. Norman IJ, Redfern SJ, editors, Mental health care for elderly people. New

York: Churchill Livingstone; 1996.

2.2) บทหนึ่งในหนังสือหรือตำรา

ชื่อผู้นิพนธ์. ชื่อเรื่อง. ใน: ชื่อบรรณาธิการ, บรรณาธิการ, ชื่อหนังสือ. ครั้งที่พิมพ์. เมืองที่พิมพ์: สํานักพิมพ์; ปีที่พิมพ์. หน้า (หน้าแรก-หน้าสุดท้าย).

  1. Mahathanan N, Rodpai S. Counselling for ranal replacement therapy. In: Eiam-Ong S, Susantitaphong P, Srisawat N, Tiranathanagul K, Praditpornsilpa K, Tungsan-ga K, editors, Textbook of hemodialysis. Nakhon Pathom: AI Press; 2007. p 94-103. (in Thai)
  2. Philpps SJ, Whisnant JP. Hypertension and stroke. In: Laragh JH, Brenner BM, editors, Hypertension: pathophysiology, diagnosis, and management. ed. New York: Raven Press; 1995. p. 465-78.

 3) รายงานการประชุม สัมมนา

ชื่อบรรณาธิการ, บรรณาธิการ, ชื่อเรื่อง. ชื่อการประชุม; วัน เดือน ปีประชุม; สถานที่ประชุม. เมืองที่พิมพ์: สํานักพิมพ์; ปีที่พิมพ์. หน้า.

  1. Technical and Planning Division, Department of Thai Traditional and Alternative Medicine. Document for the 7/2012 meeting of the Department for Development of Thai Traditional and Alternative Medicine; 2012 Sep 19; Bonanza Resort Hotel, Khao Yai, Nakhon Ratchasima. Nonthaburi: Department of Thai Traditional and Alternative Medicine; 2012. (in Thai)
  2. Kimura J, Shibasaki H, editors, Recent advances in clinical neurophysiology. Proceedings of the 10th International Congress of EMG and Clinical Neurophysiology; 1995 Oct 15-19, Kyoto, Japan. Amsterdam: Elsevier; 1996.
  3. Bengtsson S, Solheim BG. Enforcement of data protection, privacy and secu-rity in medical informatics. In: Lun KC, Degoulet P, Piemme TE, Rienhoff O, editors, MEDINFO 92 Proceedings of the 7th World Congress on Medical Informatics; 1992 Sep 6-10; Geneva, Switzerland. Amsterdam: North-Holland; 1992. p. 1561-5.

4) รายงานการวิจัย พิมพ์โดยผู้ให้ทุน

ชื่อผู้นิพนธ์. ชื่อเรื่อง. เมืองที่พิมพ์: หน่วยงานที่พิมพ์/แหล่งทุน; ปีที่พิมพ์. เลขที่รายงาน. (จํานวนหน้า).

  1. Smith P, Golladay K. Payment for durable medical equipment billed during skilled-nursing facility stays. Final report (US), Office of Evaluation and Inspections; 1994. Report No.: HHSIGOE169200860.

5) วิทยานิพนธ์

ชื่อผู้นิพนธ์. ชื่อเรื่อง [ประเภทปริญญา]. ภาควิชา, คณะ . เมือง: มหาวิทยาลัย; ปีที่ได้ปริญญา.(จํานวนหน้า).

  1. Sirisute K. Using local wisdom for developing local curriculum according to the primary education curriculum of 1978 (revised 1990) in participating schools under Suphan Buri Provincial Primary Education Office [dissertation]. Bangkok: Chulalongkorn University; 1995. (in Thai)
  2. Kaplan SJ. Post-hospital home health care: the elderly’s access and utilization [dissertation]. St. Louis (MO): Washington University; 1995.

6) สิ่งพิมพ์อื่นๆ

6.1) บทความในหนังสือพิมพ์

ชื่อผู้เขียน. ชื่อเรื่อง. ชื่อหนังสือพิมพ์ วัน เดือนปีที่พิมพ์ ; ส่วนที่: เลขหน้า (เลขคอลัมน์).

  1. Lee G. Hospitalizations tied to ozone pollution: study estimates 50,000 admissions annually. The Washington Post. 1996 Jun 21; Sect. A:3 (col.5).

6.2) กฎหมาย

ชื่อพระราชบัญญัติ. ชื่อประเทศ ฉบับที่ คริสต์ศักราช, ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่, ตอนที่. (ลงวันที่).

  1. National Health Act B.E. 2550 (2007). Government Gazette. Vol. 124, Part 16A. (2007 Mar 19). (in Thai)
  2. Preventive Health Amendments of 1993. Pub L No. 103-183, 107 Stat. 2226. (Dec, 1993).

6.3) พจนานุกรม

ชื่อพจนานุกรม. ครั้งที่พิมพ์. เมืองที่พิมพ์: สํานักพิมพ์; ปีที่พิมพ์. คําที่ค้นความหมาย; หน้า (หน้าแรก-หน้าสุดท้าย).

  1. The Royal Society Dictionary B.E. 2554. 2nd ed. Bangkok: Nanmeebooks: ; 2013. (in Thai)
  2. Stedman’s medical dictionary. 26th ed. Baltimore: Williams & Wilkins; 1995. Apraxia; p. 119-20

7) วีดีทัศน์

ชื่อเรื่อง (วีดีทัศน์). เมืองที่ผลิต: แหล่งผลิต; ปีที่ผลิต.

  1. HIV/AIDS: the facts and the future (videocassette). St. Louis (MO): Mosby - Year-book; 1995.

8) สื่ออิเล็กทรอนิกส์

8.1) บทความวิชาการ รายงานการวิจัย จากวารสาร ในอินเทอร์เน็ต

ชื่อผู้นิพนธ์. ชื่อเรื่อง. ชื่อวารสาร [Internet]. ปีที่พิมพ์ [ปี เดือน วันที่อ้างถึง]; ปีที่ (ฉบับที่): [เลขหน้า]. แหล่งข้อมูล: URL ของแหล่งสารสนเทศ

  1. Morse SS. Factors in the emergence of infectious diseases. Emerg Infect Dis [Internet]. 1995 [cited 1996 Jun 5];1(1):7-15. Available from: http://www.cdc.gov/ncidod/EID/eid.htm

8.2) บทความทางวิชาการอื่นๆ จากอินเทอร์เน็ต

ชื่อผู้นิพนธ์. ชื่อเรื่อง [Internet]. ปีที่พิมพ์ [ปี เดือน วันที่อ้างถึง]. แหล่งข้อมูล: URL ของแหล่งสารสนเทศ

  1. Drugge R, Dunn HA, editors, The electronic textbook of dermatology [Internet]. 2000 [cited 2006 Nov 3]. Available from: http://telemedicine.org/stamford.htm

9) รูปแบบการเขียนเอกสารอ้างอิงจากสื่ออื่นๆ

โปรดดูจาก International Committee of Medical Journal Editors (ICMJE) Recommendations for the Conduct, Reporting, Editing and Publication of Scholarly Work in Medical Journals: Sample References จากเว็บไซต์ http://www.nlm.nih.gov/bsd/uniform_requirements.html

 

4. ตารางและภาพ

ตารางและภาพที่จัดทําและนําเสนอได้อย่างเหมาะสม จะกระตุ้นความสนใจผู้อ่านบทความและทําให้เข้าใจเนื้อหา บทความได้รวดเร็ว ส่วนมากผู้อ่านจะอ่านชื่อเรื่อง บทคัดย่อ พิจารณาตารางและภาพ ก่อนจะตัดสินใจว่าจะอ่านบทความต่อไปหรือไม่ โดยต้องเตรียมไฟล์ภาพและตารางทั้งในเนื้อหาและแยกจากเนื้อหา โดยไฟล์ภาพที่แยกจากเนื้อหาต้องมีความละเอียดไม่น้อยกว่า 600 kb และขนาดไม่เกิน 10 MB โดยตารางและรูปภาพจะต้องไม่ละเมิดลิขสิทธิ์ผลงานของผู้อื่น ทั้งนี้ จะต้องมีข้อความอ้างถึงตารางหรือภาพอยู่ในเนื้อหา เช่น ดังภาพที่ 1 หรือ (ตารางที่ 1)

1) ตาราง 

ตารางเน้นการจัดระเบียบของคําพูด ตัวเลข และ เครื่องหมายต่างๆ บรรจุในคอลัมน์เพื่อแสดง ข้อมูล และความ สัมพันธ์ของข้อมูล แนวทางการจัดทําตาราง มีดังนี้

(1) แยกแต่ละตารางออกจากเนื้อหาบทความ ตารางละหนึ่งหน้ากระดาษ และไม่ควรเสนอตารางเป็นภาพถ่าย

(2) หัวคอลัมน์ เป็นตัวแทนอธิบายข้อมูลในคอลัมน์ ควรจะสั้นหรือย่อๆ และอธิบายรายละเอียดในเชิงอรรถใต้ตาราง

(3) แถวเป็นข้อมูลที่สัมพันธ์กับคอลัมน์ หัวแถว (row heading)

(4) เชิงอรรถ จะเป็นคําอธิบายรายละเอียดที่บรรจุในตารางได้ไม่หมด ไม่ควรใช้เลขกํากับเพราะอาจสับสนกับ   

เลขกํากับของเอกสารอ้างอิง ให้ใช้เครื่องหมายตามลําดับนี้ * † ‡ § ¶ # **

(5) เมื่อผู้อ่าน อ่านตารางแล้วควรเข้าใจได้สมบูรณ์ โดยไม่ต้องหาความหมายเพิ่มเติมในบทความ ดังนั้น

ชื่อตารางควรสั้น ได้ใจความ คอลัมน์เรียงลําดับความสําคัญ (เวลาที่ศึกษาการดําเนินโรค) จากซ้ายไปขวา เรียง

ลําดับของแถวจากบนลงล่าง

(6) บทความหนึ่งเรื่องควรมีตารางไม่เกิน 3-5 ตาราง หรือเนื้อหา 1,000 คําต่อ 1 ตาราง ถ้าผู้นิพนธ์มีข้อมูล

มากให้เลือกเฉพาะข้อมูลที่สําคัญนําเสนอเป็นตารางในบทความ

(7) ต้องขออนุญาต และแสดงความขอบคุณ กรณีนําข้อมูลในตารางมาจากบทความของผู้อื่น

2) ภาพ

ภาพจะสื่อความหมายได้ชัดเจน เน้นจุดสําคัญ และมีประสิทธิภาพ มีแนวทางดังนี้

(1) ภาพ ต้องคมชัด เป็นภาพขาว-ดํา ภาพสีใช้เมื่อจําเป็นเท่านั้น

(2) ภาพต้นฉบับเป็นไฟล์ .jpg หรือ .tiff หรือ .png แต่ละภาพมีความละเอียดไม่น้อยกว่า 300 dpi ( ขนาดไฟล์ไม่น้อยกว่า 600 kb แต่ไม่เกิน 10 MB)

พอที่จะจัดทําต้นฉบับได้ชัดเจน พร้อมตั้งชื่อภาพ เพื่อป้องกันการสับสน

 

5. การส่งต้นฉบับ

ต้นฉบับที่ส่งให้บรรณาธิการให้พิมพ์ด้วยโปรแกรม ไมโครซอฟท์เวิร์ด (Microsoft Word) ความยาวประมาณ 7-15 หน้ากระดาษเอ 4 พิมพ์แบบแนวตั้ง (Portrait) จัดชิดขอบซ้ายของหน้ากระดาษ

การส่งต้นฉบับ สามารถส่งได้ที่ :

การส่งต้นฉบับ สามารถส่งต้นฉบับเป็นไฟล์ที่พิมพ์ด้วย โปรแกรมไมโครซอฟท์เวิร์ด ทั้งเนื้อเรื่องและตาราง ส่วนภาพทั้งหมดให้ส่งเป็นไฟล์สกุล JPEG image (.JPG) แยกแต่ละภาพ พร้อมตั้งชื่อภาพ (ระบุเพียง ภาพที่ 1 เป็นต้น) แนบไฟล์ต้นฉบับที่เป็น PDF ด้วย เพื่อป้องกันความสับสนของเนื้อหาจากการใช้โปรแกรมไมโครซอฟท์เวิร์ดที่มีเวอร์ชั่นแตกต่างกัน และแนบหนังสือนำส่งงานวิจัยเพื่อขอตีพิมพ์ผ่านอีเมล: hctcm.journal@gmail.com

1) ลงทะเบียนส่งต้นฉบับออนไลน์ที่  https://www.tci-thaijo.org/index.php/TJTCM โดยลักษณะของไฟล์บทความเป็นไปตามข้อกำหนดที่ส่งทางอีเมล

หมายเหตุ - หากผู้นิพนธ์ ย้ายที่อยู่หรือเดินทางไปจากสถานที่ทํางานอยู่เดิม เป็นเวลานาน ควรแจ้งให้บรรณาธิการทราบทางอีเมล

กรณีที่ต้องการติดต่อกับวารสารทางไปรษณีย์ สามารถติดต่อได้ที่

         บรรณาธิการ

         คลินิกการประกอบโรคศิลปะ สาขาการแพทย์แผนจีนหัวเฉียว

         วารสารการแพทย์แผนจีนในประเทศไทย

         14 ซอยนาคเกษม แขวงคลองมหานาค เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กทม. 10100

         โทรศัพท์/โทรสาร: 02-223-1111 ต่อ 509, 827

         e-mail:  hctcm.journal@gmail.com