นโยบายและจรรยาบรรณของวารสาร

วารสารการแพทย์แผนจีนในประเทศไทย จัดทำโดยคลินิกการแพทย์แผนจีนหัวเฉียว มีวัตถุประสงค์ดังนี้

1) เพื่อเผยแพร่ผลงานวิชาการและงานวิจัยด้านการแพทย์แผนจีน และสมุนไพร
2) เพื่อเป็นเวทีสื่อกลางแลกเปลี่ยน และพัฒนาทางวิชาการและนวัตกรรมด้านการแพทย์แผนจีน และสมุนไพร

วารสารการแพทย์แผนจีนในประเทศไทย มีการเผยแพร่ 2 รูปแบบ คือ วารสารสิ่งพิมพ์ (ISSN: 2822-0145) (Print) และวารสารอิเล็กทรอนิกส์ (ISSN: 2822-0153) (online) (https://he01.tci-thaijo.org/index.php/TJTCM) มีกำหนดเผยแพร่ปีละ 2 ฉบับ คือ

     ฉบับที่ 1 ประจำเดือนมกราคม-มิถุนายน

     ฉบับที่ 2 ประจำเดือนกรกฎาคม–ธันวาคม

 

  1. นโยบายภาพรวมของวารสารการแพทย์แผนจีนในประเทศไทย

     วารสารการแพทย์แผนจีนในประเทศไทย มีนโยบายการพิจารณาบทความวิจัย และบทความวิชาการด้านการแพทย์แผนจีนและสมุนไพร และเผยแพร่ผลงานอย่างเป็นระบบ เป็นธรรม และมีคุณภาพมาตรฐานระดับชาติ

     สำหรับกระบวนการพิจารณา “นิพนธ์ต้นฉบับ” และ “บทปริทัศน์” ทุกเรื่อง มีกระบวนการโดยการเปิดรับและพิจารณาคุณภาพเบื้องต้นของผลงานโดยกองบรรณาธิการ จากนั้น กองบรรณาธิการจะจัดส่งผลงานให้ผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน อย่างน้อย 2 ท่าน เพื่อประเมินและให้ความคิดเห็นทางวิชาการโดยอิสระและเพื่อพัฒนา/ปรับปรุงผลงานให้มีคุณภาพถูกต้อง และสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ในลักษณะ “การทบทวนแบบปกปิดสองทาง (Double-Blinded Review)” กล่าวคือ ทั้งผู้นิพนธ์จะไม่ทราบชื่อผู้ทรงคุณวุฒิที่ประเมินบทความ และผู้ทรงคุณวุฒิจะไม่ทราบชื่อของผู้นิพนธ์บทความที่ประเมิน ภายหลังที่ผู้ทรงคุณวุฒิมีการทบทวนและให้ข้อเสนอแนะทางวิชาการตามแบบฟอร์มต่อกองบรรณาธิการแล้ว กองบรรณาธิการจะประสานงานให้ผู้นิพนธ์ พิจารณาปรับปรุงแก้ไขผลงานตามข้อแนะนํา เมื่อผู้นิพนธ์ปรับปรุงแก้ไขผลงานแล้ว กองบรรณาธิการจะจัดส่งให้ผู้ทรงคุณวุฒิให้ความเห็นอีกครั้งหนึ่ง และกองบรรณาธิการจะพิจารณาการรับหรือไม่รับการตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานในขั้นสุดท้าย โดยจะมีการพิจารณาปรับปรุงแก้ไขเท่าที่จําเป็นและสมควรก่อน

     อย่างไรก็ตาม ข้อมูล ความคิดเห็นและบทสรุปต่างๆในบทความทุกฉบับที่ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์แผนจีนในประเทศไทย ถือเป็นความคิดเห็นของผู้นิพนธ์ มิใช่ความคิดเห็นหรือความรับผิดชอบของกองบรรณาธิการวารสารฯ และมิได้แสดงว่าทางกองบรรณาธิการหรือคลินิกการแพทย์แผนจีนหัวเฉียวจะเห็นพ้องด้วย

  1. นโยบายด้านจริยธรรม/จรรยาบรรณของวารสารการแพทย์แผนจีนในประเทศไทย

2.1 บรรณาธิการและกองบรรณาธิการต้องกํากับให้การดําเนินการของวารสารฯ เป็นไปตามนโยบายและวัตถุประสงค์ให้ถูกต้องตามจริยธรรม/จรรยาบรรณ และจะดําเนินการอย่างเหมาะสมต่อผู้นิพนธ์หรือบทความวิชาการ/บทวิจัยที่ตรวจพบว่ามีการกระทําผิดจริยธรรม/จรรยาบรรณ

2.2 ผลงานวิชาการ/งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร การแพทย์แผนจีนในประเทศไทยต้องผ่าน การตรวจสอบเพื่อหลีกเลี่ยงการพิมพ์ซ้ำ การซ้ำซ้อน และการลอกเลียนโดยมิชอบ/การแอบอ้างความคิดเห็นผู้อื่นมาเป็นของตนเอง (duplications/plagiarism) และมีการจัดการผลประโยชน์ทับซ้อน (Conflict of interest) ในกระบวนการประเมิน และเผยแพร่ผลงานวิชาการ/งานวิจัย

  1. ความรับผิดชอบของบรรณาธิการ

3.1 บรรณาธิการรับผิดชอบดําเนินการทุกสิ่งในงานวารสารการแพทย์แผนจีนในประเทศไทยให้ตรงตามวัตถุประสงค์ของวารสารฯ ปรับและพัฒนาความถูกต้องและคุณภาพวารสารให้มีมาตรฐานและมีความต่อเนื่อง

3.2 บรรณาธิการกําหนดกระบวนการพิจารณา คัดเลือก และตรวจสอบความถูกต้องของผลงานวิชาการ/งานวิจัย เพื่อเข้าสู่กระบวนการประเมินคุณภาพโดยพิจารณาอย่างสอดคล้องกับนโยบายและวัตถุประสงค์ของวารสาร

3.3 บรรณาธิการไม่เปิดเผยข้อมูลของผลงาน วิชาการ/งานวิจัย ผู้นิพนธ์และผู้ทรงคุณวุฒิ แก่บุคคลอื่นในกระบวนการประเมินคุณภาพผลงาน ยกเว้น ถูกร้องขอด้วยเหตุผลอันสมควร และไม่เกิดผลกระทบเชิงลบต่อผู้ที่เกี่ยวข้อง

3.4 บรรณาธิการตรวจสอบและปกป้อง มาตรฐานของทรัพย์สินทางปัญญาของผลงานวิชาการ/งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารฯ และตรวจสอบเพื่อหลีกเลี่ยงการพิมพ์ซ้ำ/ซ้ำซ้อน และการลอกเลียนโดยมิชอบ/การแอบอ้างความคิดเห็นของผู้อื่นมาเป็นของตน (duplications/plagiarism)

3.5 บรรณาธิการมีการสร้างระบบการจัดการผลประโยชน์ทับซ้อน (conflict of interest) ระหว่างบรรณาธิการ ผู้นิพนธ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ และกองบรรณาธิการในการประเมินและเผยแพร่ผลงานวิชาการ/งานวิจัยอย่างเหมาะสม

3.6 บรรณาธิการ และกองบรรณาธิการคัดเลือก ผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเชี่ยวชาญในสาขาวิทยาการ และองค์กรที่หลากหลายทั้งภายในและภายนอกคลินิกการแพทย์แผนจีนหัวเฉียว ตลอดจนจัดทําและปรับปรุง “คําแนะนําสําหรับผู้นิพนธ์” ให้ร่วมสมัยอย่างต่อเนื่อง

3.7 บรรณาธิการ มีกระบวนการยกเลิกบทความวิชาการที่ตรวจพบภายหลังว่าบทความวิชาการ/งาน วิจัยมีความผิดพลาดสําคัญ หรือไม่ปฏิบัติตามความรับผิดชอบของผู้นิพนธ์

  1. ความรับผิดชอบของผู้นิพนธ์

4.1 ผู้นิพนธ์ต้องมีความซื่อสัตย์ มีคุณธรรม จริยธรรม และมีอิสระทางวิชาการโดยปราศจากอคติในทุกขั้นตอนของการวิจัย (ตามคู่มือ “จรรยาวิชาชีพ ของนักวิจัย และแนวทางปฏิบัติ” สํานักงานคณะ กรรมการการวิจัยแห่งชาติ พ.ศ. 2554)

4.2 ผู้นิพนธ์ต้องรายงานผลงานวิชาการ/งานวิจัย จากข้อเท็จจริงจากการศึกษา ยึดถือความถูกต้องของข้อมูล ปราศจากข้อมูลที่เป็นเท็จและบิดเบือนข้อมูลให้คลาดเคลื่อนจากความจริง และจัดทําผลงานตาม “คําแนะนําสําหรับผู้นิพนธ์”

4.3 ผู้นิพนธ์ต้องอ้างอิงผลงานของผู้อื่นที่ปรากฏอยู่ในผลงานวิชาการ/งานวิจัยของตนเอง ต้องมีความสุจริตทางวิชาการไม่มีการกระทําที่เป็นการลอกเลียน/ แอบอ้างงานเขียน หรืองานสร้างสรรค์ของผู้อื่นทั้งหมดหรือบางส่วนนํามาใส่ในงานของตนเองโดยไม่มีการอ้างอิงแหล่งที่มา (plagiarism)

4.4 ผู้นิพนธ์ควรพยายามหลีกเลี่ยงผลประโยชน์ทับซ้อน (Conflict of interest) มิให้เกิดขึ้น ทั้งในกระบวนการวิจัย และ/หรือ กระบวนการเผยแพร่ผลงานวิจัย ความสัมพันธ์นี้อาจเป็นความสัมพันธ์ด้านบวกหรือด้านลบก็ได้ หรือความสัมพันธ์ส่วนบุคคล ความสัมพันธ์เชิงธุรกิจ ความสัมพันธ์ทางการเงิน ฯลฯ อันก่อให้เกิดอคติต่องานวิจัยได้ หากผู้นิพนธ์คาดว่าจะมีผลประโยชน์ทับซ้อนในงานวิจัย ให้เปิดเผยต่อบรรณาธิการวารสารฯ ทราบล่วงหน้า และแหล่งทุนวิจัยจะต้องถูกกล่าวถึงในกิตติกรรมประกาศ

4.5 ผู้นิพนธ์ต้องมีความรับผิดชอบต่อผลงานตนเองและรับรองว่า ผลงานไม่เคยถูกตีพิมพ์ หรือกําลังอยู่ระหว่างขั้นตอนการพิจารณาตีพิมพ์ในวารสารอื่นใด

4.6 ผู้นิพนธ์ต้องระบุผู้เป็นเจ้าของผลงานวิชาการ/งานวิจัยร่วมทุกคน ระบุบทบาทและสัดส่วนของความรับผิดชอบอย่างชัดเจน ในกรณีที่มิได้มีผู้นิพนธ์คนเดียว                                          

4.7 ในกรณีที่ผู้นิพนธ์ทําผิดต่อความรับผิดชอบของผู้นิพนธ์ โดยเฉพาะข้อ 4.2-5 กองบรรณาธิการจะตัดสิทธิ์ การตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์แผนจีนในประเทศไทยเป็นเวลาอย่างน้อย 3 ปี และกองบรรณาธิการวารสารฯ จะแจ้งหน่วยงานที่ผู้นิพนธ์ สังกัดตามแต่กรณี

  1. ความรับผิดชอบของผู้ทรงคุณวุฒิ/ผู้ทบทวน (reviewer)

5.1 ผู้ทรงคุณวุฒิ/ผู้ทบทวน มีบทบาทประเมินและให้ข้อเสนอแนะทางวิชาการต่อผลงานวิชาการ/งานวิจัยด้วยความเป็นธรรมและปราศจากอคติ ช่วยเหลือบรรณาธิการพิจารณาถึงความเหมาะสมในการตีพิมพ์ผลงานวิชาการ/งานวิจัย ในวารสารฯ และช่วยเหลือผู้นิพนธ์เพื่อพัฒนาความถูกต้องและคุณภาพของ ผลงานให้ดีขึ้น

5.2 ผู้ทรงคุณวุฒิ/ผู้ทบทวนควรประเมินผลงานวิชาการ/งานวิจัย ในสาขาวิทยาการที่ตนเองมีความเชี่ยวชาญ และควรถอนตัวจากการพิจารณาผลงานวิชาการ/งานวิจัย หากพบว่าตนเองไม่อาจประเมินผลงานวิชาการ/งานวิจัยได้ด้วยเหตุผลใดก็ตาม โดยแจ้งให้บรรณาธิการรับทราบ

5.3 ผู้ทรงคุณวุฒิ/ผู้ทบทวน ต้องไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน (conflict of interest) และผลประโยชน์เชิงแข่งขัน (competing interest) กับผู้นิพนธ์หรือผลงานวิชาการ/งานวิจัยที่ตนเองประเมิน

5.4 ผู้ทรงคุณวุฒิ/ผู้ทบทวน ต้องรักษาความลับเกี่ยวกับผลงานวิชาการ/งานวิจัยที่อยู่ในระหว่างกระบวนการประเมินและทบทวนของตนเอง ไม่ควรแสดงความคิดเห็น หรืออภิปรายแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับผลงานที่ยังไม่ได้รับการตีพิมพ์ ในกรณีที่ผู้ทรงคุณวุฒิต้องการให้มีผู้ร่วมทบทวนผลงานด้วย จะต้องได้รับความเห็นชอบจากบรรณาธิการก่อน และจะต้องปรากฏชื่อของผู้ทบทวนร่วมในแบบประเมินผลงานด้วย

5.5 หากผู้ทรงคุณวุฒิ/ผู้ทบทวน พบว่า ผลงานวิชาการ/งานวิจัยที่ทบทวนประเมินมีส่วนหนึ่งส่วนใดที่มีความเหมือนหรือความซ้ำซ้อนกับผลงานอื่น ผู้ทรงคุณวุฒิต้องแจ้งให้บรรณาธิการทราบเพื่อจัดการให้เหมาะสมต่อไป

5.6 ผู้ทรงคุณวุฒิ/ผู้ทบทวนควรแนะนําผลงานวิชาการ/งานวิจัยอื่นที่สําคัญและเป็นประโยชน์ต่อผลงานซึ่งผู้นิพนธ์ยังมิได้อ้างอิง แต่ไม่แนะนําผู้นิพนธ์อ้างอิงผลงานของตนเอง