Role of university in the aging society
Abstract
ขอกล่าวคำว่า สวัสดีกับท่านผู้อ่านทุกท่านครับ กระผม ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทันตแพทย์ยสนันท์ จันทรเวคิน อาจารย์ประจำคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี ได้รับมอบหมายจากท่านอธิการบดีให้ทำหน้าที่บรรณาธิการ วารสารการแพทย์โลกาภิว้ตน์ ตั้งแต่วันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2566 ตามนโยบายของท่านอธิการบดีที่จะรวมวารสารสำหรับเผยแพร่ผลงานวิชาการของคณาจารย์ บุคลากร และนักศึกษาของคณะทางวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี ให้เป็นวารสารฉบับเดียว
ดังที่เราทราบกันว่า ปัจจุบันสังคมไทยและอีกหลายประเทศทั่วโลกกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (aging society) ข้อมูลจาก Economic and Social Commission for Asia and the Pacific (ESCAP) ขององค์การสหประชาชาติ แสดงให้เห็นว่าเมื่อสิ้นปี ค.ศ. 2022 จะมีประชากรสูงอายุ (มากกว่า 60 ปี) ประมาณ 670 ล้านคน อาศัยอยู่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก หรือคิดเป็นประมาณ 1 ใน 7 ของจำนวนประชากรทั้งหมดในภูมิภาคนี้ และคาดว่าสัดส่วนจะเพิ่มเป็น 1 ใน 4 ในปี ค.ศ. 2050 (1) โดยแนวโน้มดังกล่าวก็พบในประเทศไทย และส่งผลกระทบในด้านต่าง ๆ ทั้งสังคมศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ รวมทั้งด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ
เมื่อประชากรมีอายุยืนยาวขึ้น ย่อมเลี่ยงไม่ได้ที่จะพบปัญหาสุขภาพเพิ่มมากขึ้น ในมุมวิชาชีพของกระผมที่ทำงานด้านสุขภาพช่องปากก็ให้ความสำคัญเรื่องนี้เป็นอย่างมากเช่นเดียวกัน ในการประชุมแผนยุทธศาสตร์ของราชวิทยาลัยทันตแพทย์แห่งประเทศไทยเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา ได้มีการบรรจุโครงการจัดตั้งสาขาทันตกรรมผู้สูงอายุ ขึ้นเป็นสาขาเฉพาะทางด้านทันตแพทยศาสตร์ มีการฝึกอบรมและสอบอย่างเป็นระบบ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของงานด้านนี้เป็นอย่างมาก หรือในหลักสูตรหลังปริญญาของมหาวิทยาลัยของเรา กรณีของสาขาวิชาทันตกรรมรากเทียม เราคงทราบอยู่แล้วว่ามุ่งให้การรักษาทดแทนฟันที่สูญเสียไป ซึ่งมักพบในกลุ่มวัยกลางคนถึงวัยสูงอายุ แต่ในกรณีสาขาวิชาทันตกรรมจัดฟัน ซึ่งพวกเราคงนึกถึงการรักษาในกลุ่มเด็กและวัยรุ่น ก็ยังมีหัวข้อการให้การรักษาทางทันตกรรมจัดฟันในผู้ใหญ่ (adult orthodontics) รวมทั้งมีการพัฒนาเทคนิคทางศัลยกรรมที่ใช้ร่วม เพื่อให้การรักษาผู้ป่วยกลุ่มนี้ (2)
อย่างไรก็ตาม การดูแลประชากรกลุ่มนี้ จำเป็นต้องบูรณาการองค์ความรู้จากหลากหลายสาขา ทางวารสารได้รับเกียรติจากศาสตราจารย์ ดร.ชัยยงค์ พรหมวงศ์ นักวิชาการด้านศึกษาศาสตร์ที่มีชื่อเสียง และท่านเคยดำรงตำแหน่งรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี ได้กรุณาเขียนบทความเรื่อง “วิทยาการปัจฉิมวัย: นวัตกรรมการจัดการศึกษา สาธารณสุข และสวัสดิการสำหรับสังคมสูงวัย” เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ ซึ่งจากบทความดังกล่าว ท่านผู้อ่านจะเห็นความเชื่อมโยงการจัดการศึกษาที่ไม่ได้มีเฉพาะการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพเท่านั้น แต่ต้องบูรณาการองค์ความรู้ ทั้งในแง่ศิลปะ นันทนาการ อาชีพ ธุรกิจ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ศึกษาศาสตร์ไปจนถึงวิชาศาสตร์แห่งชีวิต ซึ่งในความเห็นของกระผม มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรีของเรามีศักยภาพ สามารถจัดการเรียนการสอนแบบสหสาขารองรับหลักสูตรในลักษณะนี้ได้อย่างสมบูรณ์
นอกจากพันธกิจด้านการจัดการเรียนการสอนรองรับสังคมผู้สูงอายุที่ได้กล่าวมา มหาวิทยาลัยของเรายังมีความพร้อมทั้งในแง่การจัดบริการวิชาการให้ก้บประชากรกลุ่มนี้ รวมทั้งการทำงานวิจัยทั้งงานวิจัยชุมชน งานวิจัยคลินิก รวมทั้งงานวิทยาศาสตร์พื้นฐาน (basic science research) ซึ่งเราสามารถใช้ “วารสารการแพทย์โลกาภิวัตน์” ของเราเป็นสื่อกลางในการเผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับสังคมผู้สูงอายุทั้งระดับชาติและนานาชาติได้เป็นอย่างดีครับ
ยสนันท์ จันทรเวคิน
References
United Nations, Economic and Social Commission for Asia and the Pacific (ESCAP) (2022). Asia-Pacific Report on Population Ageing 2022: Trends, policies and good practices regarding older persons and population ageing (ST/ESCAP/3041). Available from https://www.unescap.org/kp/2022/asia-pacific-report-population-ageing-2022-trends-policies-and-good-practices-regarding. Cited Apr 28, 2023.
Kumchai T, Arunakul J, Kumchai H. Applications of concentrated growth factors (CGF) to enhance osteogenesis in dentistry. J Oral Maxillofac Surg. 2020;34:136-46.
Downloads
Published
How to Cite
Issue
Section
License
Copyright (c) 2023 Journal of medical globalization, Bangkokthonburi university
This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial 4.0 International License.