ผลของโปรแกรมการทำงานเป็นทีมการพยาบาลต่อความพึงพอใจของผู้รับบริการ แผนกสูติกรรมโรงพยาบาลทั่วไปแห่งหนึ่ง

ผู้แต่ง

  • ดวงดี ศรีสุขวัน นักศึกษาหลักสูตรพยาบาลศาสตร์มหาบัณฑิตสาขาการบริหารทางการพยาบาล คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยคริสเตียน
  • พัชราภรณ์ อารีย์ รองศาสตราจารย์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยคริสเตียน
  • เนตรชนก ศรีทุมมา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยคริสเตียน

คำสำคัญ:

โปรแกรมการทำงานเป็นทีมการพยาบาล, ความพึงพอใจ, ผู้รับบริการ

บทคัดย่อ

         วัตถุประสงค์ของการวิจัยชนิดกึ่งทดลองแบบสองกลุ่มวัดก่อนและหลังการทดลอง เพื่อเปรียบเทียบความพึงพอใจของผู้รับบริการในแผนกสูติกรรมก่อนกับหลังใช้โปรแกรมการทำงานเป็นทีมการพยาบาลในแผนกสูติกรรมในโรงพยาบาลทั่วไปแห่งหนึ่ง ระหว่างกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม ประชากรเป็นผู้มารับบริการที่แผนกสูติกรรมในโรงพยาบาลทั่วไปแห่งหนึ่ง กลุ่มตัวอย่างจำนวน 60 คน แบ่งเป็นกลุ่มทดลอง 30 คน และกลุ่มควบคุม 30 คน โดยกลุ่มทดลองได้รับการบริการพยาบาลจากพยาบาลที่ได้รับการมอบหมายตามโปรแกรมการทำงานเป็นทีมการพยาบาล และกลุ่มควบคุมได้รับการบริการพยาบาลจากพยาบาลที่ได้รับการมอบหมายงานตามหน้าที่ เครื่องมือที่ใช้ในการทดลอง ได้แก่ โปรแกรมการทำงานเป็นทีม ประกอบด้วย แผนการสอน และคู่มือการทำงานเป็นทีม เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูล ประกอบด้วย แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล และแบบสอบถามความพึงพอใจของผู้รับบริการ ความตรงเชิงเนื้อหาของแผนการสอน คู่มือการทำงานเป็นทีม แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล และแบบสอบถามความพึงพอใจของผู้รับบริการแผนกสูติกรรมได้ค่า  0.90, 0.86, 1.00 และ 0.97 ตามลำดับ ความเชื่อมั่นของแบบสอบถามความพึงพอใจของผู้รับบริการโดยวิธีสัมประสิทธิ์อัลฟ่าของครอนบาค ได้ค่า 0.98 วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนาและสถิติทดสอบค่าทีแบบสองกลุ่มอิสระ                       

         ผลการวิจัยพบว่า ความพึงพอใจของกลุ่มทดลอง มีค่าเฉลี่ยของคะแนนความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก (ร้อยละ 82.76) กลุ่มควบคุม มีค่าเฉลี่ยของคะแนนความพึงพอใจในระดับปานกลาง (ร้อยละ 66.31)ค่าเฉลี่ยของคะแนนความพึงพอใจของกลุ่มทดลองสูงกว่าค่าเฉลี่ยของคะแนนของกลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05  ผลการวิจัยชี้ให้เห็นว่าควรมีการพัฒนาการทำงานเป็นทีมการพยาบาลในผู้ปฏิบัติงานในห้องคลอดและหอผู้ป่วยหลังคลอดในโรงพยาบาลทั่วไป

References

กัญญดา ประจุศิลป. (2561). การจัดการทางการพยาบาลและภาวะผู้นำ. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

จิราภรณ์ เตชะอุดมเดช. (2559). ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อประสิทธิผลของการทำงานเป็นทีมของพยาบาลวิชาชีพ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่. พยาบาลสาร, 43(3), 117-127.

พีรยา คงรอด, เพชรน้อย สิงห์ช่างชัย และเบญจวรรณ พุทธิอังกูร. (2561). ผลของโปรแกรมการทำงานเป็นทีมต่อคุณภาพบริการพยาบาลของหอผู้ป่วยตามการรับรู้ของผู้บริหารทางการพยาบาลระดับต้นที่โรงพยาบาลเอกชนระดับทุติยภูมิแห่งหนึ่ง.พยาบาลสาร, 46(2), 131-141.

วราภรณ์ พันธ์มานะเจริญผล. (เดือนสิงหาคม, พ.ศ.2554). การพัฒนารูปแบบการทำงานเป็นทีมทางการพยาบาลของหอผู้ป่วยอายุรกรรมและศัลยกรรมโรงพยาบาลพญาไท 2, การประชุมเตรียมสอบวิจัยระดับบัณฑิตศึกษามหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ครั้งที่ 1, นนทบุรี.

ยิ่งขวัญ อยู่รัตน์. (2553). ผลของการใช้ระบบการมอบหมายงานแบบพยาบาลเจ้าของไข้ในห้องคลอดและหอผู้ป่วยหลังคลอดต่อการรับรู้คุณค่าวิชาชีพของพยาบาล และความพึงพอใจของผู้รับบริการโรงพยาบาลรามาธิบดี. (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต). จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, กรุงเทพฯ.

Campion, M.A., Paper., E.M., & Medsker, G.J. (1996). Relation Between Work Team Characteristics and Effectiveness : A Replication and Extension. Personnel Psychology, 49(6), 429-452.

Robbins, S. (2001). Essential of Organization Behavior. (8thed.). New Jersey: Pearson Prentice Hall.

Roming, D. A. (1996). Breakthrough teamwork : Out standing result using structured teamwork. Chicago: Irwin.

Smith. L.F.P. (2001). Development of a multidimensional labor satisfaction questionnaire : Dimensions. Validity, and intentional reliability. Quality in Health Care, 10(1), 17-22.

Sharon, M.M. (2005). Evaluating the effectiveness of health care team. Aust Health Rev, 29(2), 211-271.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2021-09-27