ปัจจัยทำนายความล่าช้าในการมารับบริการของผู้ป่วยกลุ่มอาการหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน

Main Article Content

วิยะดา คงแก้ว
นันทิยา วัฒายุ
ดวงใจ รัตนธัญญา
สุพินดา เรืองจิรัษเฐียร

Abstract

วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาปัจจัยทำนายความล่าช้าในการมารับบริการที่โรงพยาบาลของผู้ป่วยกลุ่มอาการหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน

รูปแบบการวิจัย: การวิจัยความสัมพันธ์เชิงทำนาย

วิธีดำเนินการวิจัย: กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยกลุ่มอาการหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน จำนวน 148 คน คัดเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง เก็บรวบรวมข้อมูลโดยการสัมภาษณ์ผู้ป่วยกลุ่มอาการหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันที่มาตามนัดและนอนโรงพยาบาลด้วยภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันไม่เกิน 2 เดือน โดยใช้แบบสอบถามการตอบสนองต่ออาการต่างๆ มีค่าสัมประสิทธิ์อัลฟ่าของครอนบาคเท่ากับ .67 วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา และสมการถดถอยโลจิสติก

ผลการวิจัย: พบว่า ผู้ป่วยกลุ่มอาการหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันส่วนใหญ่ (64.2%) เป็นเพศชาย อายุเฉลี่ย 53.59 ปี ประมาณ 2 ใน 3 (64.9%) ของผู้ป่วยกลุ่มอาการหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันมีความล่าช้าในการมารับบริการที่โรงพยาบาล โดยรวมตัวแปรที่ศึกษาทั้งหมดร่วมกันทำนายความล่าช้าได้ร้อยละ 52.1 (Pseudo R2 = 0.521, p <0.05) ประกอบด้วย อายุ เพศ การตอบสนองด้านการรับรู้ การตอบสนองทางอารมณ์ การตอบสนองทางพฤติกรรม และการตอบสนองทางอารมณ์หรือพฤติกรรมของบุคคลอื่น โดยมี 5 ตัวแปร ที่สามารถทำนายความล่าช้าในการมารับบริการที่โรงพยาบาล ได้แก่ การตอบสนองทางพฤติกรรมโดยพยายามผ่อนคลาย (OR = 35.566, B = 3.571, p <.05) อยู่กับครอบครัวในขณะเกิดอาการ (OR = 0.041, B = -. 3.191, p <.05) การตอบสนองทางอารมณ์หรือพฤติกรรมของบุคคลอื่นแนะนำให้พักผ่อนและทานยา (OR = 0.056, B = -2.883, p <.01) อยู่ที่บ้านขณะเกิดอาการ (OR = 8.738, B  = 2.168, p <0.01) รอให้อาการหายไป (OR = 2.722, B  = 1.019, p <0.01)

สรุป พยาบาลควรส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับอาการแสดงของภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันเพื่อป้องกันความล่าช้าในการมารับบริการที่โรงพยาบาล

Article Details

Section
Research articles