บรรณาธิการแถลง
บทคัดย่อ
สถานการณ์การระบาดของโรคอุบัติใหม่โควิด-19 ทั่วโลกจนถึงปัจจุบันในวันที่ 22 มิถุนายน 2565
มีการบันทึกผู้ป่วยติดเชื้อแล้วมากกว่า 544 ล้านราย และมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 6.54 ล้านราย โดยมีผู้ติดเชื้อที่
ไม่มีอาการ ไปถึงโรคระบบทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรงจนเสียชีวิต และส่งผลต่อร่างกายในระยะยาวได้
ประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา อินเดีย และบราซิล สำหรับประเทศไทยอยู่
ในอันดับที่ 26 จาก 230 ประเทศทั่วโลก คือ มีผู้ติดเชื้อ 4,502,542 ราย เสียชีวิต 30,509 ราย รักษาหาย
จำนวน 4,451,569 ราย มีสัดส่วนผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้ว 1 เข็ม ร้อยละ 85.9 ฉีดแล้ว 2 เข็ม จำนวนร้อยละ
79.8 และฉีดแล้ว 3 เข็มจำนวนร้อยละ 37.8 ของประชากร การระบาดของโรคส่งผลต่อระบบต่างๆ อาทิ
ระบบบริการสุขภาพ ระบบเศรษฐกิจ สังคม อาชีพ และความเป็นอยู่ของประชาชน
ที่สำคัญคือ มีผู้ป่วยส่วนหนึ่งเมื่อหายแล้วมีปัญหาติดตามมา คือ long covid ซึ่ง Coronavirus 2
(SARS-CoV-2 เข้าสู่เซลล์ของร่างกายผ่านตัวรับ angiotensin-converting enzyme 2 (ACE2) เมื่อฝังตัวแล้ว
ไวรัสจะแบ่งตัว และกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกายให้หลั่ง cytokines ตอบสนองต่อการอักเสบที่เกิดขึ้น
ตัวรับ ACE2 นี้มีอยู่มากมายในทุกเซลล์ของร่างกาย ตั้งแต่ สมอง ช่องปาก เยื่อบุจมูก ปอด หัวใจ
ทางเดินอาหาร ตับ ไต ม้าม เส้นเลือดแดงและเส้นเลือดดำ จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ SAR-CoV-2 สามารถ
ทำลายหลายๆ อวัยวะพร้อมๆ กัน ผู้ติดเชื้อจำนวนมากหายจากโรค แต่มีจำนวนหนึ่งที่แม้ว่าจะไม่ติดเชื้อ
แล้วแต่ยังมีอาการอื่นๆ หลงเหลืออยู่ ที่เรียกว่า long covid โดย The National Institute for Health
and Care Excellence (NICE) ได้นิยามความหมายของ long covid ว่า หมายถึง อาการที่ยังเป็นต่อ
เนื่องหลังจากการติดเชื้อ covid-19 เฉียบพลันและไม่สามารถอธิบายได้ด้วยการวินิจฉัยอื่นๆ โดยรวมถึง
ผู้ที่มีอาการอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ 4 - 12 สัปดาห์หลังจากการติดเชื้อ และกลุ่มอาการหลัง covid-19 เกิน
12 สัปดาห์หลังการติดเชื้อ และ The National Institutes of Health (NIH) ของสหรัฐอเมริกา ได้นำ
คำจำกัดความของ US Centers for Control and Prevention (CDC) ของ long covid ซึ่งหมายถึง
อาการที่เกิดขึ้นหลังการติดเชื้อครั้งแรกตั้งแต่ 4 สัปดาห์ อาการที่พบบ่อย เช่น อ่อนเพลีย (fatigue) เหนื่อย
หายใจไม่สะดวก (dyspnea) ความผิดปกติของหัวใจและหลอดเลือด ความผิดปกติด้านจำและสุขภาพจิต
ปวดศีรษะ นอนไม่หลับ การได้กลิ่นและการรับรสผิดปกติ และอาจพบว่าการทำงานของไตผิดปกติและ
ตับอ่อนอักเสบได้
ปัจจัยเสี่ยงยังคงเป็นผู้สูงอายุ ผู้ทุพพลภาพ ภาวะบกพร่องทางจิต ภูมิคุ้มกันต่ำ ผู้ที่มีโรคประจำตัว
ได้แก่ ภาวะอ้วน โรคหัวใจ โรคทางเดินหายใจ และความดันโลหิตสูง เป็นต้น การดูแลรักษานั้น NICE ได้
มีการออก guidelines ในการวินิจฉัย การส่งต่อ และการดูแลรักษา long covid ซึ่งมีการประเมินแบบ
องค์รวม การสืบค้นทางห้องปฏิบัติการ การบริหารการดูแล และคงต้องมีพัฒนาการของการดูแล long
covid นี้ต่อไป
ย้อนกลับมาที่ บูรพาเวชสาร ฉบับนี้เป็นปีที่ 9 ฉบับที่ 1 เดือน มกราคม - มิถุนายน 2565
ซึ่งมีพัฒนาการมาอย่างต่อเนื่องเข้าปีที่ 9 แล้ว เริ่มจากที่ยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จักกันในหมู่นักวิชาการ ปัจจุบัน
เป็นที่รู้จักกันมากขึ้นจนทำให้ต้องเพิ่มจำนวนเรื่องในเล่มมากขึ้น ในเล่มนี้มีนิพนธ์ต้นฉบับ 6 เรื่อง ได้แก่
1. การประเมินภาพถ่ายทางรังสีดูต่ำแหน่งเจาะรูเอ็นไขว้หน้าที่กระดูกแข้งภายหลังการผ่าตัดสร้าง
เอ็นไขว้หน้าโดยใช้หมอนรองเข่าด้านนอกเป็นจุดอ้างอิง 2. ผลการสอนสุขศึกษาโดยใช้สื่อวีดิทัศน์เรื่องการ
ปฏิบัติตัวหลังทำผ่าตัดต้อกระจกให้กับผู้ป่วยผ่าตัดต้อกระจก 3. การศึกษาถึงความสำคัญของสารก่อภูมิแพ้
ในเด็กที่ป่วยเป็นโรคภูมิแพ้จมูกอักเสบจากภาคตะวันออกของประเทศไทย 4. ปัจจัยทำนายคุณภาพชีวิต
ของบุคลากรทางการศึกษาภาครัฐในเขตภาคตะวันออก 5. ศึกษาผลของการออกกำลังกายด้วยโยคะ
ต่อการทรงตัว ช่วงการเคลื่อนไหวของรยางค์ส่วนล่างและประสิทธิภาพการทำงานของกล้ามเนื้อมัดใหญ่
ในเด็กสมองพิการ: การศึกษานำร่อง และ 6 ประสิทธิผลของอุปกรณ์วงล้อบริหารข้อไหล่ร่วมกับรอก
คู่เหนือศีรษะในผู้ป่วยข้อไหล่ติด: การศึกษานำร่อง และมีบทความปริทัศน์ การทบทวนวรรณกรรม
3 เรื่อง ได้แก่ 1. ข้อเสนอแนะระบบการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุตำบลแสนสุข ประสบการณ์จากการระบาด
ของโรคโควิด-19 ทั่วโลก 2. ความสัมพันธ์ระหว่างภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกลั้นกับภาวะ
หัวใจล้มเหลวชนิดที่มีการบีบตัวของหัวใจปกติ และ 3. โรคพยาธิสตรองจิลอยด์
ในการนี้คณะผู้จัดทำบูรพาเวชสารขอขอบคุณผู้นิพนธ์ทุกท่าน และคณะผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณา
บทความประจำฉบับที่ให้ความเมตตากรุณาต่อบูรพาเวชสารเป็นอย่างดีเสมอมา และเป็นการให้โอกาส
บูรพาเวชสารได้พัฒนาอย่างมีคุณภาพสืบต่อไป