จริยธรรมการตีพิมพ์

วารสารบูรพาเวชสารกำหนดจริยธรรมการตีพิมพ์เผยแพร่บทความวิจัยและบทความวิชาการ
(Publication Ethics) ดังนี้

บทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบของบรรณาธิการวารสาร
1. ดูแล และควบคุมคุณภาพของวารสาร ให้ตรงตามวัตถุประสงค์ และขอบเขตเนื้อหาของวารสาร
2. พิจารณา ตรวจสอบ และคัดเลือกบทความ เพื่อตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสาร โดยพิจารณาผลงานที่มีความสอดคล้องกับวัตุประสงค์ของวารสาร ปรับปรุง และพัฒนาวารสารให้ได้มาตรฐาน
3. พิจารณาคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิที่จะพิจารณาคุณภาพของผลงานตีพิมพ์ ตรวจสอบความถูกต้องของผลงานหลังจากปรับแก้ไขตามคำแนะนำของผู้ทรงคุณวุฒิ หรือถอดถอนผลงาน หลังจากผ่านกระบวนการประเมินบทความ โดยการรับตีพิมพ์จะต้องกระทำโดยคำนึงถึงความสำคัญของผลงานภายใต้ความเท่าเทียมกัน ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนใดๆ และเป็นผลงานใหม่ที่ยังไม่เคยได้รับการตีพิมพ์ที่ใดมาก่อน
4. หากบรรณาธิการมีข้อสงสัยในผลงาน ให้ติดต่อผู้นิพนธ์เพื่อขอคำชี้แจง หรือหลักฐานประกอบเพิ่มเติม โดยมุ่งเน้นให้มีสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในรายละเอียดต่างๆ ของผลงาน
5. ใช้เหตุผลทางวิชาการเพื่อพิจารณาบทความโดยไม่มีอคติต่อบทความและผู้นิพนธ์ในด้านเชื้อชาติ เพศ ศาสนา วัฒนธรรม การเมือง และสังกัดของผู้นิพนธ์
6. ข้อมูลของผู้นิพนธ์ และผู้ประเมินบทความจะถูกเก็บเป็นความลับ ตลอดช่วงระยะเวลาที่อยู่ระหว่างการพิจารณา

บทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบของผู้นิพนธ์
1. บทความที่ส่งมาตีพิมพ์จะต้องเป็นผลงานใหม่ ไม่เคยตีพิมพ์ที่ใดมาก่อน และต้องไม่มีการส่งตีพิมพ์ที่ทับซ้อนในขณะอยู่ระหว่างขั้นตอนการพิจารณา หรือภายหลังการตอบรับตีพิมพ์จากทางวารสาร
2. เนื้อหาในบทความจะต้องเป็นการรายงานผลที่เป็นข้อเท็จจริง ไม่บิดเบือนข้อมูล หรือให้ข้อมูล ที่เป็นเท็จ
3. มีเอกสารรับรองจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์หรือในสัตว์ทดลอง จากสถาบันที่ทำการวิจัยนั้นๆ
4. ต้องอ้างอิงผลงานของผู้อื่นหากมีการนำผลงานเหล่านั้นมาใช้ในงานวิจัยหรือบทความของตนเอง และต้องจัดทำเอกสารอ้างอิงไว้ท้ายบทความทุกครั้ง
5. ข้อความหรือบทความในวารสารนี้เป็นความคิดเห็นของผู้นิพนธ์ทุกท่าน ซึ่งจะเป็นผู้ร่วมรับผิดชอบต่อข้อมูลที่เผยแพร่สู่สาธารณะ
6. ผู้นิพนธ์ต้องเขียนบทความให้ตรงตามรูปแบบของวารสารกำหนด

บทบาทและหน้าที่ของผู้ประเมินบทความ
1. ประเมินบทความที่ได้รับมอบหมาย และเป็นเรื่องที่ตรงตามความเชี่ยวชาญของตนเองโดยพิจารณาจากคุณภาพของบทความเป็นสำคัญ ไม่ใช้ความคิดเห็นส่วนตัวที่ไม่มีข้อมูลรองรับมาเป็นเกณฑ์ในการตัดสินบทความ
2. ต้องรักษาความลับของบทความที่รับการประเมินแก่บุคคลอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้อง
3. การพิจารณาผลงานต้องไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับผู้นิพนธ์ หรือเหตุผลอื่นๆ ที่ทำให้ไม่สามารถให้ข้อคิดเห็นอย่างอิสระได้ โดยผู้ประเมินบทความต้องแจ้งให้บรรณาธิการวารสารทราบและปฏิเสธการประเมินบทความนั้น
4. หากผู้ประเมินบทความ พบว่า บทความที่ประเมินมีส่วนหนึ่งส่วนใดที่มีความเหมือน หรือความซ้ำซ้อนกับผลงานคนอื่น ให้รายงานบรรณาธิการทราบทันที