บรรณาธิการแถลง
บทคัดย่อ
ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาจนถึงเดือนธันวาคม 2564 เหตุการณ์ทั้งในต่างประเทศและในประเทศคงหนี
ไม่พ้นเรื่องของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) ซึ่งเป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อไวรัส SARS-CoV-2)
ส่งผลกระทบในวงกว้างต่อปัญหาเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม โดยเฉพาะการทำมาหากิน สุขภาพ
มาตรการสร้างเสริมสุขภาพและการป้องกันโรคโควิด-19 และการดำเนินชีวิตในวิถีชีวิตใหม่ (new normal)
จากภาพรวมของทั่วโลกพบผู้ติดเชื้อรวม 277 ล้านคน เสียชีวิต 5.38 ล้านคน (ร้อยละ 1.942) จาก
รายงานสถานการณ์ของประเทศไทย ณ วันที่ 23 ธันวาคม 2564 พบผู้ติดเชื้อสะสมตั้งแต่ พ.ศ. 2563
รวม 2.2 ล้านคน เสียชีวิต 21,501 คน (ร้อยละ 0.977) ผู้เสียชีวิตมักเป็นผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และกลุ่ม
ผู้ที่มีโรคเรื้อรังซึ่งถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ ได้แก่ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง อ้วนและ
โรคไต โรคนี้ติดต่อจากคนใกล้ชิดทั้งผู้คนที่รู้จักและคนในครอบครัว เนื่องจากไวรัสสามารถแพร่กระจาย
ได้ง่ายผ่านอนุภาคของเหลวขนาดเล็กจากปากหรือจมูกของผู้ติดเชื้อเมื่อมีอาการไอ จาม พูด ร้องเพลง
หรือหายใจ โดยอนุภาคเหล่านี้มีตั้งแต่สารคัดหลั่งละอองฝอยขนาดใหญ่จากระบบทางเดินหายใจไป
จนถึงละอองลอยขนาดเล็ก การติดเชื้อเกิดได้จากการหายใจเอาไวรัสเข้าสู่ร่างกายเมื่ออยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย
โควิด-19 หรือโดยการสัมผัสพื้นผิวที่มีเชื้อไวรัสแล้วมาสัมผัสตา จมูก หรือปากของตนเอง ไวรัสแพร่กระจาย
ได้ง่ายขึ้นในพื้นที่ปิดและสถานที่แออัด มาตรการการป้องกันนั้น ประเทศไทยได้ฉีดวัคซีนให้ประชาชน
ไปแล้ว 101.079 ล้านโดส เป็นเข็มที่ 1 จำนวน 50.768 ล้านโดส และเข็มที่สองจำนวน 44.819 ล้านโดส
เข็มที่สาม 5.491 ล้านโดส จะเห็นว่าจำนวนการฉีดวัคซีนครอบคลุมประชากรมากกว่าร้อยละ 50 จาก
ประชากร 66.18 ล้านคน ผู้ที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนเป็นประชากรกลุ่มวัยเด็กและวัยรุ่นที่อายุต่ำกว่า
18 ปี รวมถึงผู้ที่ยังมีทัศนคติเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนไปในด้านไม่เห็นด้วย กลัว ไม่แน่ใจในประสิทธิภาพ และ
ความปลอดภัยของวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19
เร็ว ๆ นี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศว่ามีเชื้อโควิดกลายพันธุ์ชนิดใหม่ล่าสุด โควิด
สายพันธุ์ B.1.1.529 หรือ โอไมครอน Omicron เป็นสายพันธุ์ระดับที่น่ากังวล (variants of concern:
VOC) พบครั้งแรกในแอฟริกาใต้ ปัจจุบันพบว่ามีการระบาดแล้วกว่า 57 ประเทศทั่วโลก (ข้อมูล ณ วันที่
9 ธ.ค. 2021) เชื้อกลายพันธุ์ โควิดสายพันธุ์โอมิครอนมีตำแหน่งการกลายพันธุ์ของยีนมากถึง 50 ตำแหน่ง
โดยมีหลักฐานบ่งชี้ว่าอาจจะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นที่จะทำให้เกิดการกลับมาติดเชื้อซ้ำได้ นอกจากนี้ยัง
พบการกลายพันธุ์ที่ตัวรับ (receptor-binding domain) ซึ่งไวรัสใช้จับยึดกับเซลล์ของคนเรามากกว่า
10 ตำแหน่ง ในขณะที่เชื้อโควิดกลายพันธุ์สายพันธุ์เดลตา (delta) มีการกลายพันธุ์ในส่วนนี้เพียง
2 ตำแหน่งเท่านั้น ซึ่งอาจจะทำให้มีการหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันมนุษย์ได้ดียิ่งขึ้น แม้ว่าจะมีภูมิจากการฉีดวัคซีน
แล้วก็ตาม
จากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิดกลายพันธุ์ชนิดใหม่โอไมครอนนั้น ในหลายประเทศรวมทั้ง
ประเทศไทยได้กลับมาใช้ มาตรการ lockdown ส่วนในประเทศสหรัฐอเมริกาได้ออกมาระบุว่าจะไม่กลับ
ไปใช้มาตรการ lockdown และขอความร่วมมือให้ประชาชนชาวอเมริกันเข้ารับการฉีดวัคซีนเข็มบูสเตอร์
ดังนั้นหากประชาชนไม่ต้องการ lockdown การรับวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่จะส่งผลให้ประชาชน
สามารถดำเนินชีวิตในวิถีใหม่ตามปกติ
สำหรับบูรพาเวชสาร (Burapha Journal of Medicine: BJM) คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัย
บูรพา ที่ปรากฏนี้เป็นปีที่ 8 ฉบับที่ 2 เดือนกรกฎาคม - ธันวาคม 2564 มีนิพนธ์ต้นฉบับ 10 เรื่อง ได้แก่
1) การปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรียในบาดแผลที่ได้รับบาดเจ็บบริเวณชายทะเล ณ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย
บูรพา 2) ผลของการจัดประสบการณ์ทางคลินิกในช่วงต้นของหลักสูตรของนิสิตแพทย์ชั้นปีที่ 2
คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยบูรพา 3) ผลของกลวิธีเพื่อลดพฤติกรรมการสั่งยาปฏิชีวนะของแพทย์ใน
แผนกผู้ป่วยนอกและแผนกฉุกเฉินของโรงพยาบาล 4) ผลของการเปลี่ยนแปลงความชันของกระดูกทิเบีย
ส่วนบนต่อการงอเข่าในการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมแบบอนุรักษ์เอ็นไขว้หลังโดยใช้คอมพิวเตอร์ช่วย
ผ่าตัด 5) อุบัติการณ์การเกิดภาวะไตวายเฉียบพลัน จากการฉีดสารทึบรังสีและปัจจัยที่เกี่ยวข้องใน
ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่เข้ารับการฉีดสารทึบรังสี โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยบูรพา 6) ผลข้างเคียงของการใช้ยา
โอมิพราโซลเป็นระยะเวลานานต่อการธำรงสมดุลแมกนีเซียมในหนูขาวเพศผู้สายพันธุ์ Sprague Dawley
7) การศึกษาลักษณะอาการทางคลินิก ปัจจัยเสี่ยงและผลการรักษาของผู้ป่วยโรคลิ่มเลือดอุดกั้นในปอด
เฉียบพลันในโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสระแก้ว 8) การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างภาวะเท้าแบน
และการทรงตัวในผู้หญิงอายุ 18 - 25 ปี 9) ลักษณะการเจ็บป่วยในห้องฉุกเฉินที่ควรควบคุมด้วยบริการ
ผู้ป่วยนอกของโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร 10) ความผิดปกติของเส้นเลือดแดงโคโรนารีด้านขวา
ที่มีจุดกำเนิดจากเส้นเลือดเอออตาร์ขาขึ้น: รายงานผู้ป่วย และการทบทวนวรรณกรรม 1 เรื่อง ได้แก่
แนวทางการบูรณาการด้านอาหารตามศาสตร์การแพทย์แผนไทยและโภชนบำบัดทางการแพทย์สำหรับ
ผู้ป่วยที่มีภาวะไขมันในเลือดผิดปกติ
สุดท้ายนี้ เนื่องด้วยวาระสิ้นปี 2564 เข้าสู่วาระปีใหม่ 2565 ในนามของคณะผู้จัดทำวารสาร
ขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในสากลโลกและพระสยามเทวาธิราชโปรดดลบันดาลให้สมาชิกทุกท่านและครอบครัว
มีความสุข ปราศจากทุกข์ อุปสรรค และภัยอันตรายใด ๆ ทั้งปวง และหวังเป็นอย่างยิ่งในการเผยแพร่
วารสารและสนับสนุนวารสารเพื่อคงอยู่คู่สถาบันสืบไป