ภาวะแทรกซ้อนทางศัลยกรรมจากท่อล้างไตของผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่ได้รับการรักษาโดย วิธีทดแทนไตด้วยการล้างไตทางช่องท้องถาวรที่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยบูรพา
คำสำคัญ:
ไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย, ล้างไตทางช่องท้อง, ภาวะแทรกซ้อนของการล้างไตทางช่องท้องบทคัดย่อ
ความเป็นมา: ผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่จำเป็นต้องได้รับการฟอกไตในประเทศไทยนั้นประมาณครึ่งหนึ่งเป็นการล้างไตทางหน้าท้องซึ่งต้องอาศัยการผ่าตัดใส่ท่อล้างไตทางหน้าท้องถาวร ซึ่งการฟอกไตวิธีนี้มักมีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้นเช่นการติดเชื้อในช่องท้อง ท่อล้างไตทำงานผิดปกติ และโรคไส้เลื่อนเป็นต้น ซึ่งต้องอาศัยการผ่าตัดแก้ไขภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้
วัตถุประสงค์: เพื่อวิเคราะห์ลักษณะทางคลินิก และปัจจัยที่มีผลในการเกิดภาวะแทรกซ้อนทางศัลยกรรมที่ต้องได้รับการผ่าตัดแก้ไขในผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ได้รับการผ่าตัดใส่ท่อล้างไตทางหน้าท้องถาวรที่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยบูรพา
วัสดุและวิธีการ: เก็บรวบรวมข้อมูลจากเวชระเบียนในผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ได้รับการผ่าตัดใส่ท่อล้างไตทางหน้าท้องถาวรที่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยบูรพาตั้งแต่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2553 ถึง วันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2559 เก็บข้อมูล เพศ อายุ น้ำหนัก ส่วนสูงโรคประจําตัว การใช้ยาป้องกันการแข็งตัวของเลือดหรือยาต้านเกล็ดเลือด เทคนิคและตำแหน่งการผ่าตัด ระยะเวลาในการผ่าตัด ระยะเวลาที่เริ่มใช้ท่อล้างไตช่องท้องถาวรหลังผ่าตัด ปริมาณน้ำที่ใส่ในช่องท้องระหว่างการล้างไตทางหน้าท้อง และภาวะแทรกซ้อนทางศัลยกรรมที่พบ มาวิเคราะห์หาปัจจัยที่มีผลในการเกิดภาวะแทรกซ้อนทางศัลยกรรม
ผลการศึกษา: มีผู้ป่วยทั้งสิ้น 156 ราย อายุเฉลี่ย 59.5 ปี (19-89 ปี) ส่วนใหญ่ร้อยละ 58.3 อยู่ในช่วงอายุ 40 ถึง 60 ปี ค่าดัชนีมวลกาย ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงปกติ (ร้อยละ 64.7) มีการใช้ยาต้านเกล็ดเลือดหรือยาละลายลิ่มเลือดพบร้อยละ 12.8 มีโรคเบาหวานร่วมด้วย ร้อยละ 12.8 เทคนิคการผ่าตัดส่วนใหญ่เป็นการผ่าตัดเปิดช่องท้องใต้สะดือ (ร้อยละ 79.5) ใช้เวลาการผ่าตัดส่วนใหญ่น้อยกว่า 1 ชั่วโมง ร้อยละ 95.5 การใช้ล้างไตผ่านทางช่องท้องครั้งแรกส่วนใหญ่ใช้หลังจากครบ 7 วันขึ้นไปหลังผ่าตัด (ร้อยละ 97.4) และปริมาณของน้ำยาล้างไตทางช่องท้องส่วนใหญ่อยู่ที่ 1.5 ลิตร ร้อยละ 58.9 พบภาวะแทรกซ้อนทางศัลยกรรมทั้งสิ้น 78 ราย (ร้อยละ 50) ส่วนใหญ่เป็นการติดเชื้อ (ร้อยละ 29.5) (1 ครั้งต่อ 28.8 เดือนของผู้ป่วย) การทำงานผิดปกติของท่อล้างไตร้อยละ 14.1 โรคไส้เลื่อนร้อยละ 4.5 พบตัวแปรที่สัมพันธ์กับการติดเชื้อคือโรคเบาหวาน odds ratio = 2.78 (95% CI 1.0681 - 7.2239), p = 0.0362 ตัวแปรที่สัมพันธ์กับโรคไส้เลื่อนคือโรคเบาหวาน odds ratio = 11.08 (95% CI 2.2732 - 54.0395), p = 0.0029 และการเริ่มใช้ท่อล้างไตทางช่องท้องน้อยกว่า 7 วันหลังผ่าตัด odds ratio = 29.40 (95% CI 3.4139 - 253.1910), p = 0.0021
สรุป: ภาวะแทรกซ้อนทางศัลยกรรมของผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ล้างไตผ่านทางช่องท้อง พบภาวะติดเชื้อ การทำงานของท่อล้างไตผิดปกติและโรคไส้เลื่อนเป็น 3 อันดับแรกที่พบ โรคเบาหวานเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อที่ต้องการการผ่าตัดเอาท่อล้างไตทางหน้าท้องออกในการรักษา และเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคไส้เลื่อนที่ต้องการการผ่าตัดซ่อมแซมผนังหน้าท้อง การเริ่มใช้ท่อล้างไตทางหน้าท้องที่น้อยกว่า 7 วันหลังผ่าตัดเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคไส้เลื่อนในผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ล้างไตผ่านทางช่องท้อง
References
2. Korzets Z, Korzets A, Golan E, Zevin D, Bernheim J. CAPD peritonitis--initial presentation as an acute abdomen with a clear peritoneal effluent. Clin Nephrol. 1992; 37(3): 155-7.
3. Li PK-T, Szeto CC, Piraino B, de Arteaga J, Fan S, Figueiredo AE, et al. ISPD Peritonitis recom-mendations: 2016 update on prevention and treatment. Perit Dial Int 2016; 36: 481–508.
4. Thailand Renal Replacement Therapy Registry 2015 Report. สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย[Cited 2018 August 1]. Available from https://www.nephrothai.org/images/Final_TRT_report_2015_%E0%B8%89%E0%B8%9A%E0%B8%9A%E0%B9%81%E0%B8%81%E0%B9%84%E0%B8%82.pdf
5. Dhanakijcharoen P, Sirivongs D, Aruyapitipan S, Chuengsaman P, Lumpaopong A. The “PD First” policy in Thailand: three-year experiences (2008-2011) J Med Assoc Thai. 2011; 94 (Suppl 4): s153-61.
6. del Peso G, Bajo MA, Costero O, Hevia C, Gil F, Diaz C, et al. Risk factors for abdominal wall complications in peritoneal dialysis patients. Perit Dial Int 2003; 23:249–54.