วารสารแพทย์นาวี เป็นวารสารวิชาการด้านการแพทย์ การพยาบาล วิทยาศาสตร์สุขภาพ
และเวชศาสตร์ทางทะเล ของกรมแพทย์ทหารเรือ ได้กำหนดจริยธรรมในการตีพิมพ์ผลงานในวารสาร ดังนี้

บทบาทและหน้าที่ของบรรณาธิการ (Duties of Editors)

           1.บรรณาธิการมีหน้าที่พิจารณาและคัดกรองต้นฉบับบทความที่ส่งมาเพื่อเข้ารับการพิจารณาตีพิมพ์ในวารสารทุกบทความ โดยพิจารณาเนื้อหาบทความที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์และขอบเขตของวารสาร ในกรณีที่เนื้อหาบทความไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์และขอบเขตของวารสาร บรรณาธิการต้องรีบแจ้งให้ผู้นิพนธ์หลักรับทราบ เพื่อให้ส่งบทความไปเข้ารับการพิจารณาตีพิมพ์ในวารสารอื่นๆ ต่อไป

           2. บรรณาธิการต้องไม่ตีพิมพ์บทความที่เคยตีพิมพ์เผยแพร่จากที่อื่นมาแล้วทั้งในรูปแบบของวารสาร หรือ บทความหลังการนำเสนอในที่ประชุมวิชาการฉบับเต็ม (Proceeding) โดยต้องมีการตรวจสอบการคัดลอกผลงานของผู้อื่น (Plagiarism) และใช้โปรแกรมการตรวจสอบที่เชื่อถือได้ (วารสารใช้โปรแกรม CopyCatch ในระบบ ThaiJo และได้กำหนดค่าความซ้ำซ้อนของผลงานไม่เกิน 25% หรืออาจพิจารณาจากโปรแกรมอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น อักขราวิสุทธิ์ Turnitin หรือโปรแกรมอื่นที่เทียบเคียง ไม่เกิน 25%) หากตรวจพบหรือมีหลักฐานหรือข้อยืนยันที่ชัดเจนว่ามีการคัดลอกผลงานของผู้อื่นเกินตามที่กำหนดไว้ กองบรรณาธิการจะติดต่อผู้นิพนธ์หลักเพื่อขอคำชี้แจง ประกอบการตอบรับ หรือ ปฏิเสธการตีพิมพ์บทความนั้นๆ

           3. บรรณาธิการต้องกำกับ ติดตาม ดูแลกระบวนการประเมินคุณภาพบทความของวารสารให้เป็นไปตามมาตรฐานทางวิชาการอย่างเคร่งครัด มีผู้ทรงคุณวุฒิประเมินคุณภาพบทความอย่างน้อย 2 ท่าน ที่มีความเชี่ยวชาญและมาจากหลากหลายสถาบัน โดยบรรณาธิการเป็นผู้คัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิตามความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านของผู้ทรงคุณวุฒิในเรื่องนั้นๆ ในกรณีที่เป็นบทความวิจัยจะเป็นผู้เชี่ยวชาญการใช้สถิติและวิธีวิทยาการวิจัยอย่างน้อย 1 ท่าน และผู้เชี่ยวชาญในเนื้อหาอย่างน้อย 1 ท่าน ส่วนบทความวิชาการจะเป็นผู้เชี่ยวชาญในเนื้อหา อย่างน้อย 2 ท่าน

          4.  บรรณาธิการต้องกำกับ ติดตาม ให้มีการการประเมินคุณภาพบทความจากผู้ทรงคุณวุฒิในเวลาที่กำหนด ติดตามการแก้ไขของผู้เขียน ตรวจสอบการแก้ไขของผู้เขียนในกรณีที่ผู้ทรงคุณวุฒิให้กองบรรณาธิการตรวจสอบ

          5.  บรรณาธิการต้องรักษาความลับและไม่เปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับบทความแก่บุคคลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลของผู้นิพนธ์หรือผู้ประเมินบทความ โดยวิธีการปิดบังชื่อผู้ทรงคุณวุฒิประเมินคุณภาพบทความและชื่อผู้นิพนธ์ (Double-blind peer review)

          6. บรรณาธิการจะเป็นผู้ตัดสินใจคัดเลือกและพิจารณาตีพิมพ์บทความที่ผ่านกระบวนการประเมินแล้ว โดย

พิจารณาจากผลการประเมินของผู้ทรงคุณวุฒิ ความสำคัญ ความทันสมัย ความชัดเจน และความสอดคล้องของเนื้อหากับนโยบายของวารสาร

          7.  หากบรรณาธิการไม่แน่ใจเกี่ยวกับเนื้อหาและคุณภาพเบื้องต้นของบทความเรื่องใดๆ บรรณาธิการต้องไม่พิจารณาปฏิเสธบทความเรื่องนั้นๆ ทันทีด้วยใจอคติ โดยอาจขอความเห็นเพิ่มเติมจากกองบรรณาธิการที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านเกี่ยวกับเนื้อหาบทความนั้นๆ ก่อนเสมอ

          8. บรรณาธิการต้องจัดทำคำแนะนำสำหรับผู้ทรงคุณวุฒิประเมินคุณภาพบทความ และคำแนะนำสำหรับ
ผู้นิพนธ์ และมีการปรับปรุงให้ทันสมัยอยู่เสมอ
          9.  บรรณาธิการต้องไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนใดๆ กับผู้นิพนธ์และผู้ทรงคุณวุฒิประเมินคุณภาพบทความ ไม่นำข้อมูลบางส่วนหรือทุกส่วนของบทความไปเป็นผลงานทางวิชาการของตนเองหรือไปใช้ประโยชน์ทางธุรกิจ

         10. บรรณาธิการต้องกำกับ ติดตาม ดูแล ทั้งด้วยตนเองและกองบรรณาธิการในเรื่องจำนวนและคุณภาพการอ้างอิงของวารสารที่ผิดไปจากสภาพความเป็นจริง เช่น มีการกำกับและร้องขอให้มีการอ้างอิงบทความในวารสารทั้งในลักษณะลับและเปิดเผย และมีการใช้อ้างอิงที่ไม่ถูกต้องและสอดคล้องกับเนื้อหา

          11. บรรณาธิการต้องกำกับ ติดตาม ดูแลการตีพิมพ์เผยแพร่บทความที่มีผลประโยชน์ทับซ้อน เช่น การตีพิมพ์เผยแพร่บทความของตนเอง (หัวหน้ากองบรรณาธิการและกองบรรณาธิการ) อย่างมีนัยสำคัญ หรือ ไม่มีการตรวจสอบคุณภาพบทความก่อนการตีพิมพ์โดยผู้ทรงคุณวุฒิที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับบทความ เป็นต้น

          12. บรรณาธิการต้องกำกับติดตาม ดูแลการดำเนินงานของวารสารให้ถูกต้องตามหลักจริยธรรม/จรรยาบรรณ ตามประกาศของศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย เรื่อง “การประเมินด้านจริยธรรม/จรรยาบรรณวารสารวิชาการไทยในฐานข้อมูล TCI” วันที่ 24 มิถุนายน 2562 และต้องดำเนินการอย่างเหมาะสมกับผู้นิพนธ์หรือบทความที่ตรวจพบว่ามีการกระทำผิดด้านจริยธรรม/จรรยาบรรณ

         13. บรรณาธิการต้องควบคุม กำกับการเผยแพร่บทความในเว็บไซต์ของวารสารให้มีความถูกต้อง สมบูรณ์ และออกตรงตามกำหนดเวลา รวมทั้งพัฒนาวารสารให้มีคุณภาพและความทันสมัยอยู่เสมอ

          14. หากกรณีเกิดปัญหาใดๆ ที่เกินอำนาจหน้าที่ของบรรณาธิการ บรรณาธิการจะต้องนำเรื่องเข้าสู่กองบรรณาธิการเพื่อตัดสินใจร่วมกันบนพื้นฐานฉันทามติ (Consensus)

บทบาทและหน้าที่ของผู้นิพนธ์ (Duties of Authors)

          1. ผู้นิพนธ์จะต้องไม่ส่งบทความที่เคยตีพิมพ์ในวารสารใดวารสารหนึ่งมาก่อน และไม่อยู่ระหว่างเสนอขอตีพิมพ์ในวารสาร หากกองบรรณาธิการตรวจพบว่าผู้นิพนธ์ส่งบทความตีพิมพ์ซ้ำซ้อนหรือบทความอยู่ในระหว่างเสนอเข้ารับการพิจารณาตีพิมพ์ในวารสารอื่น บทความจะถูกถอดออกจากวารสารแพทย์นาวีและถูกยกเลิกใบตอบรับการตีพิมพ์ รวมทั้งกองบรรณาธิการจะรายงานการกระทำดังกล่าวไปยังหน่วยงานต้นสังกัดของท่าน

          2. ผู้นิพนธ์จะต้องคำนึงถึงจริยธรรมการวิจัย ไม่ละเมิดหรือคัดลอกผลงานของผู้อื่นมาเป็นของตนเอง

          3. ผู้นิพนธ์จะต้องไม่รายงานข้อมูลที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ไม่ว่าจะเป็นการสร้างข้อมูลเท็จ หรือการปลอมแปลง บิดเบือน รวมไปถึงการตกแต่ง หรือ เลือกแสดงข้อมูลเฉพาะที่สอดคล้องกับข้อสรุป

          4.  ผู้นิพนธ์ต้องเตรียมต้นฉบับบทความตามรูปแบบที่วารสารกำหนดใน “คำแนะนำในการเตรียมต้นฉบับ”

          5. ผู้นิพนธ์ต้องตรวจสอบความถูกต้องของรายการอ้างอิง และไม่ควรนำเอกสารวิชาการที่ไม่ได้อ่านมาอ้างอิง และควรอ้างอิงเอกสารเท่าที่จำเป็นอย่างเหมาะสม ไม่ควรอ้างอิงเอกสารที่มากจนเกินไป รวมทั้งต้องมีการอ้างอิงตรงตามรูปแบบที่วารสารกำหนดไว้

          6. ผู้นิพนธ์ยินดีแก้ไขบทความตามที่ผู้ทรงคุณวุฒิ (Reviewer) และบรรณาธิการเสนอแนะภายในระยะเวลาที่กำหนด

          7. ผู้นิพนธ์ต้องแสดงเอกสารใบรับรองจริยธรรม และแสดงข้อความในบทความว่าได้ผ่านการรับรองจริยธรรมในกรณีที่เป็นวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการทำวิจัยในมนุษย์ ตามเงื่อนไขของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ

          8. ผู้ร่วมนิพนธ์ต้องรับทราบและให้ความยินยอมในการส่งบทความมายังวารสาร และผู้ร่วมนิพนธ์ที่มีชื่อปรากฏในบทความทุกคนต้องเป็นผู้ที่มีส่วนร่วมในการดำเนินการบทความจริง

          9. ผลงานของผู้นิพนธ์ได้ผ่านการตรวจสอบการลอกเลียนงานวรรณกรรมด้วยระบบอักขราวิสุทธิ์หรือโปรแกรมอื่นที่เทียบเคียง พร้อมแนบหลักฐาน (ถ้ามี)

          10. ผู้นิพนธ์รับทราบว่าบทความที่ได้รับการตีพิมพ์ เป็นลิขสิทธิ์ของวารสารแพทย์นาวี ไม่สามารถนำไปตีพิมพ์ซ้ำในวารสารฉบับอื่นได้

          11. ผู้นิพนธ์ต้องระบุผลประโยชน์ทับซ้อน (ถ้ามี)

บทบาทและหน้าที่ของผู้ทรงคุณวุฒิประเมินคุณภาพบทความ (Duties of Reviewers)

          1. ผู้ทรงคุณวุฒิต้องคำนึงถึงคุณภาพของบทความเป็นหลัก โดยพิจารณาบทความภายใต้หลักการและเหตุผลทางวิชาการโดยปราศจากอคติหรือความคิดเห็นส่วนตัวและไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับผู้นิพนธ์

          2. เมื่อผู้ทรงคุณวุฒิได้รับการประสานให้พิจารณาประเมินคุณภาพบทความ ขอให้แจ้งตอบรับให้บรรณาธิการวารสารทราบ ในกรณีที่ผู้ทรงคุณวุฒิไม่มีความเชี่ยวชาญในเนื้อหาของบทความนั้น หรือมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับผู้นิพนธ์ เช่น เป็นผู้ร่วมโครงการ หรือรู้จักผู้นิพนธ์เป็นการส่วนตัว หรือเหตุผลอื่นๆ ที่ไม่สามารถให้ข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะอย่างอิสระได้ ขอให้ผู้ทรงคุณวุฒิปฏิเสธการประเมินบทความ

          3. ผู้ทรงคุณวุฒิ ต้องให้ข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะในเชิงวิชาการที่ชัดเจน เป็นรูปธรรม รวมทั้งการเสนอแนะการอ้างอิงที่เหมาะสมและน่าเชื่อถือต่อผู้นิพนธ์ มิใช่ ประเมินเฉพาะรายละเอียดของภาษาหรือ Format และไม่ควรใช้ความคิดเห็นส่วนตัวที่ไม่มีข้อมูลรองรับมาเป็นเกณฑ์ในการประเมิน/ตัดสินบทความ

          4. ในกรณีที่ผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาแล้วเห็นว่าบทความที่ประเมินมีความเหมือน หรือซ้ำซ้อนกับผลงาน/บทความชิ้นอื่นๆ มีการปลอมแปลงหรือตกแต่งข้อมูล การส่งต้นฉบับบทความหลายที่ หรือมีการอ้างอิงเท็จ ขอให้ผู้ทรงคุณวุฒิแจ้งให้บรรณาธิการทราบทันที

          5. ผู้ทรงคุณวุฒิ ต้องรักษาความลับและไม่เปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับบทความแก่บุคคลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง ในช่วงระยะเวลาของการประเมินบทความ (Confidentiality)

          6. ผู้ทรงคุณวุฒิต้องไม่แสวงหาประโยชน์จากบทความที่ตนเองได้ทำการประเมิน

          7. ผู้ทรงคุณวุฒิควรประเมินคุณภาพบทความตามระยะเวลาที่กำหนด