การพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อจัดทำเอกสารสำคัญ และระบบแจ้งเตือนการรายงานตัวทุกระยะ 90 วัน ของศูนย์การศึกษานักศึกษานานาชาติ

ผู้แต่ง

  • อุษณี ม้ารุ่งอรุณ

DOI:

https://doi.org/10.14456/jmu.2017.7

คำสำคัญ:

การจัดทำเอกสาร, ระบบแจ้งเตือน, การรายงานตัวทุกระยะ 90 วัน

บทคัดย่อ

          ศูนย์การศึกษานักศึกษานานาชาติ  มีหน้าที่จัดการศึกษาและเตรียมความพร้อมในทุกๆ ด้าน ที่เกี่ยวข้องกับการให้การศึกษาแก่นักศึกษาต่างชาติ  รวมถึงการออกหนังสือรับรองต่างๆ และการไปดำเนินการรายงานตัวต่อสำนักตรวจคนเข้าเมืองล่วงหน้าก่อนครบกำหนดทุกระยะ 90 วันให้แก่นักศึกษาต่างชาติ การออกหนังสือรับรองทุกครั้ง ทำให้เสียเวลาในการค้นหาประวัติข้อมูลนักศึกษาและอาจเกิดข้อผิดพลาดจากการพิมพ์ สำหรับการรายงานตัวล่วงหน้า ก่อนครบกำหนดทุกระยะ 90 วัน ทางศูนย์ฯ จะต้องทำการตรวจสอบวันที่ครบกำหนดจากหนังสือเดินทางของแต่ละคน มักเกิดปัญหาหรือความผิดพลาด เมื่อครบกำหนดการรายงานตัว  ดังนั้น หากสามารถพัฒนาระบบการจัดทำเอกสารขึ้นมาใช้งานในศูนย์ฯ ก็จะลดปัญหาต่างๆ ดังกล่าวลงได้

          การวิจัยเรื่องนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาระบบการจัดทำเอกสารสำคัญและระบบแจ้งเตือนการรายงานตัวล่วงหน้าก่อนครบกำหนดทุกระยะ 90 วัน ซึ่งเป็นภาระงานในความรับผิดชอบของศูนย์การศึกษานักศึกษานานาชาติ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม มีขั้นตอนในการดำเนินการวิจัยดังต่อไปนี้ 1) การวิเคราะห์ภาพรวมของระบบงานเดิม 2) การศึกษาเอกสารที่เกี่ยวข้องกับระบบการจัดทำเอกสารและระบบการแจ้งเตือนล่วงหน้า 3) การกำหนดคุณสมบัติของระบบใหม่ที่ต้องการพัฒนา 4) การออกแบบระบบงานใหม่ 5) การพัฒนาระบบใหม่ 6) การทดลองใช้งานระบบใหม่ และ 7) การประเมินผลการพัฒนา การวิจัยครั้งนี้ผู้วิจัยได้ใช้โปรแกรมไมโครซอฟต์แอกเซสในการพัฒนาระบบจัดทำเอกสารและระบบแจ้งเตือน ส่วนการประเมินผลนั้นผู้วิจัยดำเนินการโดยเปรียบเทียบผลก่อนและหลังการใช้งานโปรแกรม ผลการประเมินการใช้งานโปรแกรมที่พัฒนาขึ้นพบว่า

          1. การจัดทำเอกสารสำคัญตามระบบงานเดิมใช้เวลาจัดทำรายละประมาณ 9 - 19 นาที ซึ่งเมื่อเทียบกับการจัดทำเอกสารสำคัญด้วยโปรแกรมที่พัฒนาขึ้น จะใช้เวลาในการจัดทำเอกสารประมาณ 2 นาที และจากการเปรียบเทียบขั้นตอนในการทำงานแบบเดิมและแบบใหม่แล้วจะเห็นได้ว่า ขั้นตอนการทำงานในระบบที่พัฒนาขึ้น มีขั้นตอนลดลง

          2. ระบบแจ้งเตือนการรายงานตัวทุกระยะ 90 วัน สามารถประมวลผลและจัดทำรายงาน ทำให้ดูข้อมูลได้ง่ายและชัดเจนขึ้น เพราะเรียกดูรายงานได้ตลอดเวลาและแสดงข้อมูลเฉพาะนักศึกษาที่จะครบกำหนด  โดยโปรแกรมจะทำการรายงานโดยเรียงลำดับตามระยะเวลาที่เหลือ ก่อนครบกำหนด 30 วัน ทำให้สามารถวางแผนเตรียมตัวไปรายงานตัวให้แก่นักศึกษาได้ ลดการความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากการไปรายงานตัวไม่ตรงตามกำหนด

          3. ผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานมีความพึงพอใจการใช้งานโปรแกรมที่พัฒนาขึ้น เพราะสามารถใช้โปรแกรม    ที่พัฒนาขึ้นจากการวิจัยได้สะดวก และรวดเร็วขึ้น ช่วยลดข้อผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นจากการพิมพ์เอกสารและการรายงานตัวทุกระยะ 90 วัน ทำให้การทำงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

References

1. จารุวรรณ (นามแฝง). (2544). ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับระบบฐานข้อมูล. สืบค้นเมื่อ 10เมษายน2558, จาก http://www.chandra.ac.th/office/ict/document/it/it04/page01.html

2. จิรันดร บู๊ฮวดใช้. (2557). การพัฒนาเว็ปไซต์สำหรับการค้นหาเบอร์โทรศัพท์นักวิจัยในมหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม. รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม, นครปฐม.

3. ชุมพล ศฤงคารศิริ. (2540). ระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการ: Management Information System. (พิมพ์ครั้งที่ 3). กรุงเทพฯ: ป.สัมพันธ์พาณิชย์.

4. นันทนี แขวงโสภา. (2554). คู่มือ Access 2010 ฉบับสมบูรณ์. (พิมพ์ครั้งที่ 1). กรุงเทพฯ: โปรวิชั่น.

5. ประวิทย์ โคมทองชูสกุล, ผู้แปล. (2537). เรียนรู้และเข้าใจการใช้งาน Microsoft Access.กรุงเทพฯ: ซีเอ็ดยูเคชั่น

6. ปริยากร บัวทอง. (2552). การพัฒนาโปรแกรมประมวลผลการเรียนตามรายวิชาของมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์. รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์, เพชรบูรณ์.

7. พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522. (2522). ราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษ. 96 (ตอนที่ 28)

8. รุ่งวิไล ปินตาสะอาด. (2552). การพัฒนาระบบการจัดการงานทะเบียนและประมวลผล โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยเชียงใหม่. การค้นคว้าแบบอิสระวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, เชียงใหม่.

9. ศิริรัตน์ ตรงวัฒนาวุฒิ. (2551). การพัฒนาระบบการจัดการเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ของ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. การค้นคว้าแบบอิสระวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, เชียงใหม่.

10. สัมฤทธิ์ วงศ์เด่นดวง. (2548). คัมภีร์การออกแบบและพัฒนาระบบฐานข้อมูลด้วย MicrosoftAccess เล่ม 1. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ: เคทีพี.

11. อำไพ พรประเสริฐกุล. (2540). การวิเคราะห์และออกแบบระบบ: System Analysis and Design.(พิมพ์ครั้งที่ 3). กรุงเทพฯ: ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2017-06-30

ฉบับ

บท

บทความวิจัย