Journal Information
เกี่ยวกับวารสาร
วารสาร Mahidol R2R e-Journal จัดทำขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่บทความวิชาการและบทความวิจัย ในสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ สหวิทยาการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และสหวิทยาการด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ โดยนำความรู้ ผลการศึกษาค้นคว้า และแนวคิดการพัฒนางานประจำสู่งานวิจัย (Routine to Research :R2R) ที่มีเนื้อหาวิชาการที่เป็นประโยชน์ในวงวิชาชีพ หรือเป็นผลงานที่แก้ไข ปรับปรุง หรือพัฒนางานประจำให้ดีขึ้น อีกทั้งเพื่อเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนความรู้ เทคนิคใหม่ ๆ ทางวิชาการ และเป็นแหล่งข้อมูลทางวิชาการด้านการพัฒนางานประจำสู่งานวิจัย โดยมีกลุ่มเป้าหมาย คือบุคลากรสายวิชาการและสายสนับสนุนทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัยมหิดล หรือบุคลากรทางการแพทย์ และผู้สนใจได้ศึกษาค้นคว้าหาข้อมูลเกี่ยวกับงาน R2R และนำไปใช้ประโยชน์ในการศึกษาและการทำงานได้ จึงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารจัดการวารสารฯ ไว้ดังนี้
“บทความวิจัย” หมายความว่า งานวิชาการที่เป็นงานศึกษาค้นคว้าอย่างมีระบบด้วยวิธีวิทยาการวิจัยที่เป็นที่ยอมรับในสาขาวิชานั้น ๆ มีที่มาและวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูล คำตอบ หรือข้อสรุปรวม ที่จะนำไปสู่ความก้าวหน้าทางวิชาการ (งานวิจัยพื้นฐาน) หรือการนำวิชาการนั้นมาใช้ประโยชน์ (งานวิจัยประยุกต์-Applied research) หรืองานวิจัยสร้างสรรค์ (Creative research) หรือการพัฒนาอุปกรณ์ หรือกระบวนการใหม่ที่เกิดประโยชน์
“บทความทางวิชาการ” หมายความว่า งานเขียนทางวิชาการซึ่งมีการกำหนดประเด็นที่ต้องการอธิบาย หรือวิเคราะห์อย่างชัดเจน ทั้งนี้ มีการวิเคราะห์ประเด็นดังกล่าวตามหลักวิชาการ โดยมีการสำรวจวรรณกรรมเพื่อสนับสนุนจนสามารถสรุปผลการวิเคราะห์ในประเด็นนั้นได้ อาจเป็นการนำความรู้จากแหล่งต่าง ๆ มาประมวลร้อยเรียงเพื่อวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ โดยที่ผู้นิพนธ์แสดงทัศนะทางวิชาการของตนไว้อย่างชัดเจนด้วย
ประเภทบทความที่รับตีพิมพ์
๑. บทความที่รับตีพิมพ์ ได้แก่ “บทความวิจัย” (Research Article) และ“บทความทางวิชาการ” (Academic Article) ซึ่งพิจารณาตามคำจำกัดความในประกาศ ก.พ.อ. เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์ พ.ศ. ๒๕๖๔ ฉบับประกาศในราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ ๗ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๕ และข้อบังคับมหาวิทยาลัยมหิดล ว่าด้วยตำแหน่งทางวิชาการ พ.ศ.๒๕๖๕ ฉบับลงวันที่ ๒๓ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๖๕
๒. ไม่เคยตีพิมพ์ในวารสารหรือสิ่งพิมพ์ใดมาก่อน และไม่ได้อยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณาลงตีพิมพ์ในวารสารหรือสิ่งพิมพ์อื่นใด
๓. มีนโยบาย ไม่รับเผยแพร่บทความของนักศึกษา และบทความที่ไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์และขอบเขตของวารสาร และบทความที่เป็นผลงานส่วนหนึ่งของการศึกษาเพื่อรับปริญญาหรือประกาศนียบัตร
๔. กรณีบทความวิจัยที่เกี่ยวข้องกับคนหรือสัตว์ (แล้วแต่กรณี) ให้แนบหลักฐานรับรองหรือหนังสือการได้รับอนุญาตให้ทำการวิจัยจากคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในคนหรือสัตว์ (Ethics) เข้ามาในระบบของวารสารพร้อมระบุข้อความที่เกี่ยวกับจริยธรรมการวิจัยในเนื้อหาของบทความด้วย
รูปแบบการเตรียมบทความเพื่อส่งตีพิมพ์
๑. ผู้นิพนธ์สามารถส่งบทความต้นฉบับผ่านระบบฐานข้อมูลวารสารอิเล็กทรอนิกส์กลางของประเทศไทย (Thai Journals Online :ThaiJo) ได้ที่ URL: https://he01.tci-thaijo.org/index.php/mur2r/ หรือค้นหาคำว่า “Mahidol R2R e-Journal” โดยวารสาร Mahidol R2R e-Journal มีเว็บไซต์ของวารสารที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย เพื่อให้ผู้นิพนธ์สามารถศึกษาข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับวารสารได้ ซึ่งประกอบด้วยวัตถุประสงค์และขอบเขต บรรณาธิการและกองบรรณาธิการ คำแนะนำในการเตรียมต้นฉบับ คำแนะนำสำหรับการส่งบทความออนไลน์ คู่มือการส่งบทความ จริยธรรมการวิจัย ระบบการสืบค้นบทความที่ได้ตีพิมพ์ในวารสาร และมีช่องทางในการติดต่อกับวารสาร
ทั้งนี้ ผู้นิพนธ์ต้องให้ความสำคัญในการจัดเตรียมต้นฉบับให้ถูกต้องตามคำแนะนำการเตรียมต้นฉบับและแบบฟอร์มบทความตามที่วารสารกำหนด เช่น รูปแบบการจัดหน้ากระดาษ ขนาดตัวอักษร วิธีการเขียนบทคัดย่อ วิธีการเขียนเนื้อเรื่อง ส่วนประกอบของเนื้อเรื่อง การใส่รูปภาพ ตาราง การเขียนรายการอ้างอิง
๒. ผู้นิพนธ์ ต้องแนบแบบฟอร์มส่งบทความเพื่อพิจารณาตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสาร Mahidol R2R e-Journal (ดาวน์โหลดเอกสารแนบ ๑ คลิกที่นี่) ซึ่งมีรายละเอียดที่ประกอบไปด้วย ชื่อบทความ ประเภทบทความ ชื่อผู้ส่ง สถานที่ติดต่อ การรับรองจริยธรรมการวิจัย และการรับรองการส่งบทความด้วย
การประเมินคุณภาพบทความ
๑. ให้กองบรรณาธิการพิจารณาคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิ (peer review) หรือผู้เชี่ยวชาญในสาขาที่เกี่ยวข้อง อย่างน้อย ๓ ท่าน เป็นผู้ประเมินคุณภาพบทความ โดยมีหลักเกณฑ์การพิจารณา ดังนี้
- เลือกผู้ทรงคุณวุฒิ หรือผู้เชี่ยวชาญ ตามสาขาที่เกี่ยวข้องกับบทความ
- บทความจากผู้นิพนธ์ภายในต้องได้รับการพิจารณาจากผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกมหาวิทยาลัยมหิดล และไม่เป็นผู้ร่วมงานใกล้ชิดหรือเคยมีผลงานตีพิมพ์ร่วมกัน
ทั้งนี้ กองบรรณาธิการจะไม่เปิดเผยชื่อผู้ทรงคุณวุฒิและผู้นิพนธ์ (double-blinded review) ก่อนตีพิมพ์เผยแพร่
๒. ผลการพิจารณาให้บทความได้รับการตีพิมพ์
- กรณีผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญในสาขาที่เกี่ยวข้อง มีความเห็นว่าบทความผ่านการพิจารณาให้ได้รับการตีพิมพ์ ให้กองบรรณาธิการแจ้งผู้นิพนธ์และให้ได้รับการตีพิมพ์
- กรณีที่ผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญในสาขาที่เกี่ยวข้อง มีความเห็นให้แก้ไขบทความตามข้อเสนอแนะของผู้ทรงคุณวุฒิ ให้กองบรรณาธิการแจ้งผู้นิพนธ์เพื่อปรับแก้ไข
- กรณีไม่ผ่านการพิจารณาและไม่รับการตีพิมพ์ กองบรรณาธิการจะแจ้งผลการพิจารณาบทความ พร้อมความเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิ หรือผู้เชี่ยวชาญในสาขาที่เกี่ยวข้อง ให้ผู้นิพนธ์ทราบ
ขั้นตอนการปฏิบัติงานการจัดทำวารสาร
เพื่อให้ผู้นิพนธ์ทราบขั้นตอนการจัดทำวารสาร ซึ่งวารสารดำเนินการอย่างมีระบบและเป็นมาตรฐานเดียวกัน วารสารจึงกำหนดขั้นตอนการปฏิบัติงานการจัดทำวารสาร รายละเอียดดังภาพขั้นตอนการปฏิบัติงานการจัดทำวารสาร Mahidol R2R e-Journal ในเว็บไซต์ของวารสาร
กำหนดการตีพิมพ์เผยแพร่บทความ
วารสาร Mahidol R2R e-Journal กำหนดการตีพิมพ์เผยแพร่ผ่านระบบออนไลน์ในเว็บไซต์ของวารสาร เป็นวารสารฉบับอิเล็กทรอนิกส์ โดยออนไลน์บทความในวารสารฉบับปัจจุบัน และบทความทุกฉบับที่เคยตีพิมพ์ วารสารกำหนดการเผยแพร่ปีละ ๓ ฉบับ ดังนี้
ฉบับที่ ๑ เดือนมกราคม -เมษายน
ฉบับที่ ๒ เดือนพฤษภาคม-สิงหาคม
ฉบับที่ ๓ เดือนกันยายน-ธันวาคม
ในวารสารแต่ละฉบับ กำหนดเผยแพร่บทความ จำนวน ๘ - ๑๒ บทความ/ฉบับ และกำหนดสัดส่วนบทความที่มีผู้นิพนธ์จากภายนอกมหาวิทยาลัยมหิดล มากกว่าหรือเท่ากับร้อยละ ๕๐ ของบทความทั้งหมด
บทความภายนอก หมายถึง บทความจากผู้นิพนธ์ที่ไม่ได้สังกัดมหาวิทยาลัยมหิดล
กรณีที่บทความมีผู้นิพนธ์จากทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัยมหิดล ให้ถือว่าเป็นบทความจากภายนอกมหาวิทยาลัยมหิดล
ค่าธรรมเนียมในการพิจารณาตีพิมพ์
วารสาร Mahidol R2R e-Journal มีนโยบายไม่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมการตีพิมพ์เผยแพร่บทความ หรือค่าดำเนินการจัดการต้นฉบับ หรือค่าใช้จ่ายอื่นใดจากผู้นิพนธ์ รวมถึงค่าธรรมเนียมการเป็นสมาชิกของวารสาร ยกเว้น กรณีที่ผู้นิพนธ์ขอถอนบทความ หรือส่งบทความไปตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารทางวิชาการ หรือเผยแพร่ในหนังสือประมวลบทความในการประชุมทางวิชาการ (proceedings) ซึ่งบทความนั้นได้ผ่านการประเมินคุณภาพจากผู้ทรงคุณวุฒิหรือในสาขาที่เกี่ยวข้อง และมีการจ่ายค่าตอบแทนให้กับผู้ทรงคุณวุฒิแล้ว ผู้นิพนธ์ ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในการดำเนินการประเมินและกลั่นกรองคุณภาพบทความให้กับมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นเงินจำนวน 3,000 บาท (สามพันบาทถ้วน) ต่อบทความ
กรณีมีลักษณะที่เข้าข่ายผิดจริยธรรมและจรรยาบรรณการตีพิมพ์ จะมีหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรแจ้งไปยังผู้บังคับบัญชาของผู้นิพนธ์ ทั้งนี้ขึ้นอยู่ในดุลยพินิจของกองบรรณาธิการ